Thursday, April 29, 2010

5 ทีมดีไซน์เลือดใหม่ ไอเดียบรรเจิด

5 ทีมดีไซน์เลือดใหม่ ไอเดียบรรเจิด





คมชัดลึก : เวทีการแข่งขันเพื่อค้นหาสุดยอดยังก์ดีไซเนอร์ไทยหน้าใหม่ในโครงการ คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเลนจ์ 2010 ในแนวคิด ยูเอส คอตตอน ออน เดอะ เรด คาร์เปต กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ เมื่อการแข่งขันมาถึงรอบ Sketch Screening Day ซึ่งเป็นรอบที่คณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานการออกแบบเสื้อผ้าที่ดีที่สุดของทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดให้เหลือ 5 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป






 ไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่าในรอบนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากกิจกรรม “โอเรนเทชั่น เดย์” ของโครงการฯ ซึ่งทีมผู้เข้าแข่งขันจากสถาบันต่างๆ จะต้องส่งผลงานการออกแบบชุดราตรีในรูปแบบ เรดี้ ทู แวร์ คัลเจอร์ (Ready-to-Wear Couture) หรือชุดราตรีสำหรับสุภาพสตรีที่มีความหรูหราแต่สามารถสวมใส่ออกงานได้จริง พร้อมกับนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลงานของน้องๆ ที่มีความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และความเหมาะสมกับโจทย์ที่คอตตอน ยูเอสเอ ตั้งไว้
 สำหรับ 5 ทีมที่ฝีมือเข้าตาคณะกรรมการ ได้แก่ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษมบัณฑิต ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (พระนครใต้) และ ม.รังสิต ซึ่งทั้งหมดจะมีโอกาสได้นำผลงานการออกแบบและตัดเย็บชุดมาให้เหล่านางแบบชั้นนำของเมืองไทยได้สวมใส่ในวันคอตตอน เดย์ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้
 ด้านกูรูแฟชั่น "แมน" กวี ลักษณะสกุลชัย สไตลิสต์ชื่อดังจากนิตยสารแพรว พูดถึงผลงานของน้องๆ ในแต่ละทีมว่า มีการเตรียมตัวที่ดี ส่วนใหญ่จะนำข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการให้ไปในรอบแรกไปพัฒนา ต่อยอด และปรับใช้กับการออกแบบชุดได้ดีขึ้น สอดคล้องกับมุมมองของ "ต่าย" ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ดีไซเนอร์จากห้องเสื้อ T-Ra ที่ยอมรับว่า ภาพรวมผลงานอยู่ในเกณฑ์ดี แต่สิ่งสำคัญที่จะแนะเพิ่มเติม คือการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมาก แต่ละคนในทีมต้องช่วยกันเสนอความคิดเห็น เพื่อให้ตกผลึกจนได้สิ่งที่ดีที่สุด เพราะการจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ดีนั้น จำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ขณะเดียวกันก็ควรมีจุดยืนของตัวเองด้วย ถึงจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับ
 มาฟังน้องๆ เจ้าของผลงานบรรเจิดที่ผ่านเข้ารอบมาได้ ธีรพันธ์ ฉุนราชา เฉลิมศักดิ์ โชคลาภ และ ณัฐพร ยิ่งยงวัฒนกุล ตัวแทนจาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (พระนครใต้) บอกว่า ผลงานการออกแบบในคอนเซ็ปต์ “Holy Thread” นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นฝ้าย ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นไม้จากพุทธประวัติที่คนสมัยก่อนนำเส้นใยมาเข้าเกลียวกันจนเกิดเป็นเส้นด้าย “สายสิญจน์” ใช้ผูกข้อมือเพื่อความเป็นสิริมงคล จึงร้อยเรียงเรื่องราวที่ว่าด้วยความเชื่อของชาวพุทธและถ่ายทอดออกมาผ่านการออกแบบลวดลายบนเสื้อผ้า
 ขณะที่ สุภัสสร เทียมศักดิ์ และ สมสิทธิ์ แซ่ลี้ จากฟาก ม.เกษมบัณฑิต กล่าวถึงที่มาของการค้นหาแนวคิดและแรงบันดาลใจสำหรับออกแบบเสื้อผ้าในการประกวดว่า ใช้วิธี mind mapping ซึ่งทำให้ได้แนวคิดมากมาย จนสุดท้ายเลือกผีเสื้อราตรี ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ความสวยงาม เปรียบได้กับผู้หญิงทุกคนที่ต้องการความโดดเด่นเมื่อสวมชุดราตรี
 หลังจากจบการแข่งขันในรอบนี้แล้ว ทั้ง 5 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ คงต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และสร้างสรรค์การตัดเย็บชุดจากการออกแบบอย่างประณีต เพื่อทำให้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคณะกรรมการ จนสามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรติไปครอง
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive