Wednesday, April 14, 2010

สกู๊ป ผู้หญิง กับการบริหาร เงิน

สกู๊ป ผู้หญิง กับการบริหาร เงิน





คมชัดลึก : ผู้หญิงกับเงิน มาคู่กันเสมอ แต่จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่รู้จัก "เงิน" อย่างแท้จริงและถูกต้อง นี่เองจึงเป็นปัญหาสำคัญทำให้ผู้หญิงยุคนี้มีปัญหากับการเงินอย่างต่อเนื่อง ใช้เงินเกินตัว ใช้เงินไม่เป็น แม้กระทั่งเก็บเงินมากเกินไป สำคัญที่สุดคือ ผู้หญิงจะมองว่าการรับผิดชอบเรื่องการเงินไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงแต่อย่างใด นั่นเองจึงเป็นที่มาของการเรียนรู้เรื่องการเงินอย่างถูกต้อง โดยสถาบันไอเออาร์เอฟที (ไทยแลนด์) (International Association of Registered Financial Thailand) กับคอร์สมันนี่ จีเนียส...อิสรภาพทางการเงิน








 "ฟ้า" สุวรรณี อัศวหฤทัย นักวางแผนการเงินส่วนบุคคลนานาชาติสถาบันไอเออาร์เอฟที (ไทยแลนด์) กล่าวว่า เริ่มแรกมาจากการจัดกลุ่มสัมมนาในเรื่องต่างๆ ด้วยส่วนตัวได้ดูแลเรื่องการวางแผนการเงินอยู่แล้ว ก็นึกสงสัยว่าคำถามของกลุ่มผู้หญิงที่มาร่วมพูดคุยกันนั้น จะเป็นคำถามที่รู้สึกว่ามันซับซ้อน กล้าๆ กลัวๆ กับเรื่องทางการเงิน มันเป็นคำถามที่ทับซ้อนกับความรู้สึก และที่รับรู้ได้เลยนั่นก็คือ ผู้หญิงจะมีคำถามที่เอาเงินไปผูกกับทัศนคติในเรื่องต่างๆ
 "นั่นเองจึงเป็นที่มาของการจัดกลุ่มเวิร์กช็อป ให้ผู้หญิงทุกคนตอบคำถามและบอกเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา ตอบกันชัดๆ ไปเลย ซึ่งเริ่มแรกก็ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องเงิน ด้วยมันเหมือนเป็นวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันมาว่าเราจะไม่ถามเรื่องเงินกัน เงินเดือนเท่าไหร่ห้ามบอกกัน หรือแม้กระทั่งมีหนี้สินอย่างไร เท่าไหร่ยิ่งบอกไม่ได้ มันเป็นอิทธิพลที่สืบๆ ต่อกันมา ที่สำคัญผู้หญิงจะคิดเสมอว่าเงินไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเธอ เงินเป็นเรื่องของผู้ชาย นั่นเองจึงเป็นปัญหาการเงินของผู้หญิง" นักวางแผนการเงินแจงที่มา
 ดังนั้น เมื่อรู้ปัญหาเรื่องการเงินแล้ว นักวางแผนทางการเงินจึงกล่าวต่อว่า คำถามแรกที่ต้องถามกันคือ ผู้หญิงรู้สึกอย่างไรกับเงิน เงินคืออะไร แน่นอนคำตอบต้องแตกต่าง เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่มีสอนในบทเรียนไม่ว่าในระดับก็ตาม ผู้หญิงทุกคนเรียนรู้เรื่องการใช้เงินมาจากครอบครัวนั่นคือความต่าง ยกตัวอย่าง
 บางคนที่มีคุณแม่เป็นแม่บ้าน มีคุณพ่อเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัว ก็จะมองว่าเงินไม่ใช่เรื่องที่ต้องรับผิดชอบจัดสรร ใช้เงินที่เรามีได้อย่างเต็มที่  หรือถ้าครอบครัวมีคุณแม่ที่ต้องมีอาชีพค้าขายและดูแลครอบครัว ก็จะมองเรื่องเงินไปอีกแบบ
 "สิ่งแรกคือทุกคนต้องเปิดใจเรื่องการเงินของตัวเอง ต้องเรียนรู้เรื่องของเงิน และต้องเรียนรู้ว่าผู้หญิงต้องจัดการและมีอิสระเรื่องเงินอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าต้องมีอิสรภาพทางการเงินเมื่อต้องเกษียณอายุจากการทำงาน ต้องมองว่าเงินสามารถจัดการได้ ยิ่งมีเงินยิ่งมีความสุขและต้องเป็นเงินสดด้วย แต่ไม่ใช่ว่าต้องมีเงินมากมาย เพราะความต้องการใช้เงินของทุกคนไม่เท่าเทียมกัน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขกลมๆ ว่าต้องมีเท่าไหร่ถึงจะมีอิสระทางการเงิน มันขึ้นอยู่ที่การใช้เงินอย่างถูกต้อง ที่ต้องอาศัยการจัดการ อาศัยระเบียบวินัยของตัวเอง การวางแผน รวมทั้งอาศัยความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเงินอย่างชัดเจนและถูกต้อง เพียงเท่านี้ผู้หญิงทุกคนก็จะรู้จักการใช้เงินอย่างมีอิสระในเวลาที่ต้องการ" ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวปิดท้าย 
 "แพม" วิรินยุพา โพธิ์แก้ว วัย 31 ปี พนักงานบริษัทเอกชนกล่าวว่า ส่วนตัวเธอเป็นคนหารายได้เข้าครอบครัวได้อย่างมาก และเป็นอย่างนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยเหลือเงินเลย ตรงกันข้ามหนี้สินกับล้นพ้น ซึ่งก็มองมุมกลับว่าในช่วงนั้นต้องดูแลครอบครัว ต้องส่งน้องเรียน พ่อก็ป่วย ก็ไม่ได้คิดมากหาเงินอย่างเดียว เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบกับคนในครอบครัว
 "ต่อพอมาระยะหนึ่งทุกอย่างในครอบครัวลงตัว พ่อหายป่วย น้องเรียนจบ แต่ทำไมแพมยังมีหนี้สินมากมายทั้งๆ ที่รายได้เพิ่มมากขึ้นก็ช่วงเริ่มต้นทำงานด้วยซ้ำ เท่านั้นแหละความเครียดเริ่มเข้ามาหา คำถามเรื่องการเงินสำหรับแพมเริ่มตามมา สุดท้ายเริ่มต้นจากการหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเงินมาอ่าน อ่านๆ จนเข้าใจและเริ่มปฏิบัติตามจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเอง เริ่มแรกก็ลืม แต่สุดท้ายก็ตั้งมั่นว่าแพมต้องมีวินัย ต้องวางแผนการใช้เงินให้ถูกต้อง 2-3 ปีแรกก็จัดการหนี้สินได้ เพราะการทำรายรับรายจ่าย ซึ่งทำให้รู้ว่าที่มาที่ไปของเงินเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้มีเงินเก็บนะ หลังจากนั้นเมื่อหนี้สินหมด การออมการเก็บเงินก็ตามมา สำคัญที่สุดตอนนี้แพมไม่ได้หายใจเข้าเป็นเงิน หายใจออกเป็นเงิน และไม่ได้ให้เงินเป็นเจ้านายของแพมอีกแล้ว เพราะแพมได้เรียนรู้กับเงินอย่างแท้จริงนั่นเอง" ผู้หญิงที่รู้จักการใช้เงินกล่าว
 "นา" วรรณา ทรัพย์ทวีมั่นคง อายุ 37 ปี พนักงานฝ่ายขายของบริษัทเอกชนกล่าวว่า ปัญหาเรื่องการเงินเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่ประสบนั่นไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเธอ แต่เกิดขึ้นกับน้องสาวในกรณีติดหนี้บัตรเครดิตมากมาย จนจ่ายเองไม่ไหว ในฐานะที่เธอเป็นพี่ก็ต้องช่วยดูแล ประกอบกับได้อบรมเรื่องการเงินอยู่บ้างจึงนำมาใช้กับน้องสาว เริ่มด้วยการให้น้องไปประนอมหนี้กับบัตรเครคิตที่เป็นหนี้อยู่มากมาย เมื่อตกลงกันได้แล้วก็ให้น้องเลิกใช้บัตรเครดิตเพื่อจะได้จ่ายหนี้ที่มีอยู่ให้หมด ซึ่งมาถึงตอนนี้หนี้ก็ลดลงไปมาก รวมทั้งยังแนะนำให้น้องรู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนตัวอย่างที่เธอทำ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นกับการวางแผนทางการเงินมากที่สุด โดยเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเห็นผลได้ชัดจากตัวเอง เพราะนั่นถือเป็นการสร้างวินัยด้านการเงินได้อย่างดีที่สุดด้วย
 รู้วิธีเริ่มต้นอย่างนี้ คุณผู้หญิงเริ่มนับหนึ่งกับการวางแผนด้านการเงินของคุณได้เลยคะ...
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive