Wednesday, April 14, 2010

ตามรอยปราชญ์...ฟื้นเพลงพื้นบ้าน (ภาคกลาง)

ตามรอยปราชญ์...ฟื้นเพลงพื้นบ้าน (ภาคกลาง)




คมชัดลึก :ในยุคที่แนวเพลงป๊อป ร็อก ฮิพฮอพ สกา ครองใจวัยรุ่น หากเอ่ยปากถึง เพลงพื้นบ้าน เด็กสมัยใหม่คงอดทำหน้าสงสัยงวยงงไม่ได้ เผลอๆ อาจจะนึกภาพไม่ออกเสียด้วยซ้ำ ว่า "เพลงพื้นบ้าน อันประกอบไปด้วย เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงลำตัด หรือ เพลงเย่ย ที่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ใช้ขับขานเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนานในวันวานนั้น มีท่วงทำนองเนื้อร้องเป็นเช่นไร...???







  โชคดีที่วันนี้เรายังมี "แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 แม่แบบเพลงพื้นบ้านที่ยังคงยืนหยัดฝึกฝนลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า หวังจะให้สืบทอดตำนานเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่คู่เมืองสุพรรณบุรีต่อไป
 จากการเป็นแม่เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ที่มีชื่อเสียง แม่ขวัญจิตเต็มไปด้วยความสามารถในการเล่นเพลงชนิดหาตัวจับยาก มีผลงานเพลงดังมากมาย ในจำนวนนั้นมีทั้งบทเพลงที่เกิดจากการแต่งของตัวเองด้วย ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายเพลงที่นำท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านภาคกลางเข้ามาผสมผสานอย่างลงตัว ยังไม่นับจำนวนบทเพลงของบรมครูเพลงรุ่นเก่าๆ ที่เก็บรวบรวมไว้ให้ศิษย์รุ่นหลังได้ศึกษาอีกมาก
 แม่ขวัญจิต กล่าวถึงความรู้สึกของโครงการ “ปตท.สผ.สืบสานวัฒนธรรมถิ่น ตามรอยปราชญ์ศิลปิน” ว่า “รู้ดีใจที่ยังมีหน่วยงานให้ความสนใจและเล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปะพื้นบ้าน โดยเฉพาะ "เพลงพื้นบ้าน" แล้วดำเนินงานจัดทำโครงการนี้ขึ้น ซึ่งตอนแรกทางเจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรีได้ติดต่อเข้ามา เพื่อให้ตัวเองเป็นที่ปรึกษาโครงการ และเมื่อได้ศึกษารายละเอียดของโครงการก็รู้สึกปลื้มใจมากที่มีผู้มาช่วยกันสืบสานศิลปะนี้ต่อไป”
 สำหรับศิลปะการร้อง รำ เล่นเพลงพื้นบ้าน เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยพื้นบ้านภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งปราชญ์ศิลปิน และเป็นศูนย์รวมเหล่าบรรดาพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านของสังคมที่ได้สะสมต่อเนื่องกันมานาน จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยและมีคุณค่าต่อสังคมอย่างยิ่งควรแก่การสานต่อให้ลูกหลานได้เห็นศิลปะในแขนงนี้ต่อไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (พื้นบ้าน-อีแซว) กล่าวว่า
 “แม่พยายามมาโดยตลอด ทั้งสอนตามโรงเรียน หรือรับเชิญไปสอนตามสถานที่ต่างๆ แม่ก็จะพยายามสอนให้เขาร้องให้ได้ ไม่ต้องเก่งอย่างเราก็ได้ แต่อย่างน้อยให้เขารู้ว่า ร้องอย่างไร ร้องในโอกาสไหน ปู่ย่าตายายเราเขาร้องเพื่ออะไร มีเด็กๆ หลายคนที่เก่ง อย่างในตอนนี้แม่ก็มีเด็กๆ จากโรงเรียนวัดวังกุ่ม อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มาแสดงด้วย ซึ่งได้ผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนเต็มที่ และมีครูที่ร้องเก่งคอยช่วยสอนอีกแรง  แม่ก็พยายามให้โอกาสเด็กยุคใหม่ โดยเฉพาะการหาเวทีให้เขาแสดงความสามารถ เพราะเขาอุตส่าห์ตั้งใจเข้ามาร่ำเรียนจนมีความสามารถกันแล้ว” แม่ขวัญจิต กล่าวชื่นชมลูกศิษย์ตัวน้อยด้วยความปลื้มใจ
 เมื่อมองย้อนกลับไปยังอดีตในยุคที่เพลงพื้นบ้านยังเฟื่องฟูอยู่ เพลงพื้นบ้านมีคุณค่าต่อสังคมมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิง ความสุข และความรื่นรมย์แก่คนในสังคมในสมัยนั้น เป็นการละเล่นของหนุ่มสาวที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ประจำวัน การเกี้ยวพาราสี ความรัก และการประลองฝีปากระหว่างชายหญิง ยิ่งเพลงปฏิพากย์ที่เป็นมหรสพก็ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะเป็นสิ่งบันเทิงที่เต็มไปด้วยโวหาร ปฏิภาณ และโวหารสังวาสที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟัง นอกจากนั้นเพลงพื้นบ้านยังมีจังหวะคึกคัก เร้าใจ มีลีลาสนุก เวลาร้องมีท่าทางประกอบ มีการรำอย่างสวยงาม และรำยั่วเย้าที่เป็นอิสระ เพลงพื้นบ้านจึงมีบทบาทเพื่อความบันเทิงเป็นสำคัญ
 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของเพลงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และกำลังจะเลือนหายไปกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นปราชญ์ศิลปินพื้นบ้าน จึงจัดโครงการ “ปตท.สผ.สืบสานวัฒนธรรมถิ่น ตามรอยปราชญ์ศิลปิน” ขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกให้แก่คนสุพรรณบุรีและคนไทยทั้งประเทศได้ตระหนักในการอนุรักษ์ สืบทอดเพลงพื้นบ้าน และเห็นคุณค่าของพ่อเพลงแม่เพลงเมืองสุพรรณให้ดำรงอยู่สู่อนุชนรุ่นหลัง โดยจะมีการบันทึกปราชญ์เพลงพื้นบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี รวบรวมชีวประวัติ ผลงานทั้งภาพ เพลง และเสียง เพื่อเก็บเป็นรายลักษณ์อักษร รวมถึงการฝึกอบรมโดยมีแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เป็นประธานที่ปรึกษาและคอยฝึกอบรมเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถขับกล่อมเพลงพื้นบ้านต่อไป 
 สำหรับในปัจจุบันแม้ว่าเพลงพื้นบ้านบางชนิดจะสูญหาย และลดบทบาทไปจากสังคมไทยแล้ว แต่ในงานมงคล เช่น งานทำขวัญนาค เพลงพื้นบ้านก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคกลาง ดังจะเห็นได้จากการมีคณะเพลงหลายคณะที่รับจ้างไปแสดงเพื่อสร้างความสุขความสำราญแก่ชาวบ้านทั่วไป เพลงพื้นบ้านเป็นงานสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชน จึงเป็นเสมือนสิ่งที่บันทึกประสบการณ์ของบรรพบุรุษที่ส่งทอดต่อมาให้แก่ลูกหลาน เพลงพื้นบ้านจึงทำหน้าที่บันทึกความรู้และภูมิปัญญาของกลุ่มชนในท้องถิ่นมิให้สูญหายไปจากสังคมไทย
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive