Wednesday, April 14, 2010

หลวงพ่อวงศ์ พระนักสร้างถนน...ดับแดนแดง

หลวงพ่อวงศ์
พระนักสร้างถนน...ดับแดนแดง





คมชัดลึก :ขอมอบกายถวายชีวิตนี้ให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะขอยึดเอาเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต จะไม่สิกขาลาเพศออกไปครองเรือนตลอดชีวิต นี่เป็นคำอธิษฐานต่อหน้าพระในอุโบสถของพระครูชัยวงศ์วุฒิคุณ หรือหลวงพ่อวงศ์ เจ้าคณะอำเภอพุนพิน และเจ้าอาวาสวัดประชาวงศาราม ต.กรูด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนที่จะเริ่มออกธุดงค์ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๐๑







  หลวงพ่อวงศ์ได้รับการขนานนามจากลูกศิษย์ที่นิยมชมชอบการลงยันต์น้ำมันว่า "จอมขมังเวทย์แห่งพุนพิน" ทั้งนี้ท่านมักจะถูกนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นประจำ แต่อีกด้านหนึ่งท่านเป็นนักพัฒนาและนักสร้างถนน โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข ๔๑๑๓ เป็นฝีมือการสร้างของหลวงพ่อวงศ์
 สถานที่ตั้งของวัดประชาวงศารามในอดีตนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดง สมัยนั้นพวกที่นิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์ได้พยายามแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่หลายแห่งในภาคใต้ ซึ่งรวมทั้งเขตอ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม อ.เคียนซา อ.เวียงสระ อ.พระแสง และอ.ชัยบุรี ฯลฯ และอีกหลายอำเภอในเขตจ.นครศรีธรรมราช
 หลวงพ่อวงศ์ได้มองเห็นถึงอุปสรรคในเรื่องนี้ จึงคิดหาทางแก้เท่าที่จะทำได้ ท่านได้ดำริที่จะตัดถนนขึ้นสายหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านระหว่างอำเภอได้ใช้อาศัยเดินทางติดต่อราชการ ขนส่งสินค้าและค้าขายพืชผลได้ง่ายขึ้น ท่านจึงชักชวนชาวบ้านโดยได้บอกขอที่จากชาวบ้านให้เสียสละที่ดินจากจุดกลางถนนข้างละ ๖ เมตร รวมสองฝั่งเป็น ๑๒ เมตร
 เมื่อรวบรวมที่ดินได้หมดหลวงพ่อวงศ์ก็เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัยนั้น คือ นายพร บุญประสพ เพื่อขอรถแทรกเตอร์ของจังหวัด
 เมื่อได้รับอนุมัติจากทางจังหวัดทำการบุกเบิกได้ ๑๐ วันได้ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จากนั้นท่านก็ได้ชักชวนชาวบ้านเพื่อตัดเส้นทางต่อไป โดยมีโครงการจะตัดถนนไปจนถึงอ.เคียนซา และอ.พระแสง เป็นที่สิ้นสุดการตัดทาง มีผู้ร่วมงาน คือ นายลพ เนาวกูล นายโชคดี นิลรัตน์ นายสร้วง อินทรกำเนิด และนายเชื่อง เพชรแดง ช่วยกันดำเนินงานตัดถนน
 หลังจากสำรวจเส้นทางเสร็จแล้ว หลวงพ่อวงศ์ก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มายังวัดทองนพคุณ เพื่อขอให้นายคงเดชซึ่งรู้จักกันช่วยเขียนแผนที่ให้และขีดแนวเส้นทางจาก กม.๑๙ ไปจนถึงอ.พระแสง เมื่อเสร็จแล้วก็นำแผนที่แนวทางกลับมาช่วยกันพิจารณา
 หลวงพ่อวงศ์ท่านเห็นว่าทางจังหวัดมีรถแทรกเตอร์เพียงคันเดียวแต่ต้องทำงานทั้งจังหวัด การที่จะสร้างถนนสายนี้ตามคิดคงจะสำเร็จได้ยาก จึงมองหาหนทางอื่นที่จะทำให้ได้ ในที่สุดก็จำยอมเสี่ยงชีวิตทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยผ่านทางท่านพล.ต.หม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ ซึ่งท่านก็ได้นำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ตามประสงค์
 ขณะเดียวกัน หลวงพ่อวงศ์ได้เดินเรื่องขึ้นไปทาง กรป.กลาง ด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ มียศเป็น พล.ต. ตำแหน่งรองเสธ.กรป.กลาง มี พ.อ.เลิสรพ สีตบุตร เป็นหน้าห้องอยู่ เมื่อทาง กรป.กลางได้รับเรื่องแล้ว ท่านก็ลงมาดูข้อเท็จจริง เรื่องแนวเส้นทางถึงที่วัด
 พอท่านกลับไปแล้วก็ได้อนุมัติให้หน่วย นพค.๔๖ ลงมาทำการในจ.สุราษฎร์ธานี โดยตั้งที่ทำการอยู่ที่อ.พนม เพื่อทำงานในพื้นที่
 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาพระราชทานพระพุทธวรบพิตให้แก่จ.สุราษฎร์ธานี พระองค์ได้ตรัสถามท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่า "พระองค์ได้รับฎีกาจากพระภิกษุรูปหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการตัดสร้างถนนซึ่งแยกจากเส้นทางสายสุราษฎร์ฯ-ตะกั่วป่า ไปถึงอำเภอพระแสง ทางจังหวัดได้ให้ความร่วมมือหรือไม่"
 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้กราบบังคมทูลว่า "ไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร เพราะทางจังหวัดมีรถแทรกเตอร์อยู่เพียงคันเดียว ไม่สามารถทำงานได้ทั้งจังหวัด"
 อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายอำเภอพุนพินได้ออกสืบว่า พระภิกษุรูปใดที่อาจหาญ สามารถกล้าที่จะถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หลวงพ่อวงศ์จึงได้นำสำเนาหนังสือฎีกาให้นายอำเภอพุนพินได้ดู
 หลังจากนั้นไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรถแทรกเตอร์ D๔ มาหนึ่งคัน โดยส่งมากับเครื่องบินบรรทุกของอเมริกาจากสนามบินอู่ตะเภา มาลงที่อ.พระแสง ซึ่งเป็นปลายเส้นทาง
 ส่วนทาง กรป.กลาง ก็ได้ส่งรถแทรกเตอร์ D๗ มาอีก ๒ คัน พร้อมด้วยรถบรรทุก ๔ คัน และส่งหน่วยทหารช่างสำรวจมาอีก ๒ คน ได้เริ่มต้นกรุยเส้นทางบุกเบิกตามแนวเส้นทางที่วางไว้จนตลอดสาย รวมได้ระยะทาง ๕๗.๕ กิโลเมตร
 เมื่อหน่วยสำรวจทำงานเรียบร้อย ก็ได้ส่งหน่วยทหารช่าง ช.๔ มาแบบครบชุด ได้ทำการบดอัดจนงานเสร็จเรียบร้อยแล้วได้มอบให้แก่กรมทางหลวงเป็นถนนสาย ๔๑๑๓ ในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำการลาดยางพื้นผิวถนนอย่างเรียบร้อยดังที่เห็นตลอดสาย
 ตลอดระยะเวลาการสร้างถนนสาย ๔๑๑๓ มีอุปสรรคมากมาย แม้จวนจะเสร็จแล้วก็ยังถูกร้องเรียนฟ้องร้องไปที่สำนักนายกฯ เรียกค่าเสียหายจำนวน ๘๖,๐๐๐ บาท จากเจ้าของสวนยาง ที่อ้างว่ารถแทรกเตอร์ได้ทำความเสียหายแก่ต้นยางพารา ผู้ถูกฟ้องก็คือหลวงพ่อวงศ์ หน่วยทหารช่าง และผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้นมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำการสอบสวนและออกหนังสือมีคำสั่งให้รีบดำเนินงานสร้างให้เสร็จเร็วๆ เพราะเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ และให้ยุติเรื่องการร้องเรียนค่าเสียหาย
ลงยันต์น้ำมันวันเดียว   ปีหนึ่งๆ หลวงพ่อวงศ์จะลงยันต์น้ำมันให้เพียงวันเดียวเท่านั้น เฉพาะวันไหว้ครู ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ๖ ไทย หากใครพลาดโอกาส ต้องรอปีถัดไป ในปี ๒๕๕๓ นี้วันพฤหัสบดีแรกอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ท่านจึงเลื่อนเป็นวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ ถือฤกษ์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ โดยเริ่มไหว้ครูก่อนตั้งแต่เวลา ๐๗.๑๙ น.
  การสักยันต์ของหลวงพ่อวงศ์จะไม่มีลูกศิษย์คอยเขียนยันต์ให้ก่อน แล้วไปให้ท่านเป่าทีหลัง เหมือนสำนักอื่นๆ
 ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ลูกศิษย์ที่ลงยันต์จะเลือกหรือขอให้หลวงพ่อวงศ์ลงยันต์ตัวหนึ่งตัวใดไม่ได้ ในพิธีกรรมลงยันต์วันไหว้ครู หลังจากนั้นท่านจะอ่านโองการบวงสรวง และกล่าวนำบูชาครู ตามตำราของท่าน  เสร็จจากการบริกรรมพระคาถาในโถน้ำมัน ท่านจะหันมาบอกว่า “เอ้า...ใครจะลงก็เข้ามา"
 หลังจากจะใช้น้ำว่านลูบบนแผ่นหลัง ท่านจะใช้เหล็กจารเขียนยันต์ให้ ส่วนจะเป็นยันต์ตัวใดนั้น ท่านดูให้เองว่า คนไหนควรลงยันต์อะไร ส่วนค่าขันบูชาครู นั้นไม่มี และไม่ต้องใช้เครื่องบูชาครูเหมือนสำนักอื่นๆ สุดแล้วแต่ใครจะศรัทธาทำบุญ
 ส่วนข้อปฏิบัติ และข้อห้ามของคนลงยันต์ไปแล้วนั้น  นอกจากต้องถือศีล ๕ แล้ว ข้อห้ามอย่างหนึ่ง คือ ห้ามกินมะเฟือง เพราะจะไปล้างว่านและคาถา
 “ขอมอบกายถวายชีวิตนี้ให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะขอยึดเอาเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต จะไม่สิกขาลาเพศออกไปครองเรือนตลอดชีวิต”
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"








ข่าวที่เกี่ยวข้องชั่วโมงเซียน -ปีเสือยันต์เสือหลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณวัดตะเคียนหลวงปู่เพิ่ม วัดป้อมแก้ว
ปลุกเสก 'เหรียญสตางค์'

ชั่วโมงเซียนอ.โสภณ-ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ยันต์มหามงคลสุดยอดพุทธคุณครอบจักรวาลลงยันต์น้ำมัน
ตำรับ...หลวงพ่อวงศ์ วัดประชาวงศาราม



NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive