Wednesday, April 14, 2010

สงกรานต์ที่ปลายด้ามขวาน ปีติแห่งวิถีไทยอิ่มบุญแบบวิถีพุทธ...๑ วันใน ๑ ปี

สงกรานต์ที่ปลายด้ามขวาน
ปีติแห่งวิถีไทยอิ่มบุญแบบวิถีพุทธ...๑ วันใน ๑ ปี





คมชัดลึก :"สรงน้ำพระพุทธ สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำ" เป็นภาพแห่งความสนุกสนานและความสุขใน วันสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัดที่คุ้นตากันดี







  แต่อีกมุมหนึ่ง ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพบรรยากาศวันสงกรานต์แม้นไม่เงียบเหงา แต่ก็ไม่คึกคักเท่ากับพื้นที่อื่นๆ ด้วยปัจจัยเหตุแห่งความไม่สงบที่ไม่เอื้อให้เทศกาลปีใหม่ไทยในพื้นที่นี้สามารถดำเนินไปได้ตามปกติเฉกเช่นเมื่อวันวาน
 ทั้งนี้เป็นเวลา ๖ ปี ที่ปัญหาความรุนแรงปะทุขึ้นในพื้นที่ปลายด้ามขวาน สังคมไทยต่างรู้ดีว่า วิถีทุกอย่างในชีวิตของผู้คนที่นี่ต้องผันแปรไปจากเดิม ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ รวมไปถึงงานประเพณีและวัฒนธรรมอันสำคัญ ที่ต้องดำเนินไปอย่างระแวดระวัง
 การเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ ในภูมิภาคอื่นๆ จะเล่น ๒-๕ วัน ตั้งแต่เช้ามืดจนมืดค่ำ แต่ที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่นวันที่ ๑๓ เมษายน เพียงวันเดียว ที่สำคัญ คือ เล่นได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเลิกเล่น ด้วยเหตุผลเดียว คือ ความปลอดภัยแห่งชีวิต
 พระครูบุญญาธรณ์ เจ้าอาวาสวัดศรีสาคร จ.นราธิวาส ถ่ายทอดภาพและเรื่องราวในวันสงกรานต์ เมื่อครั้งสถานการณ์ในพื้นที่ยังไร้ซึ่งความร้อนแรงของเหตุการณ์ความไม่สงบให้ฟังว่า  เมื่อถึงวันปีใหม่ไทย จะมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เดินทางมายังวัดตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะบรรดาคนหนุ่ม สาว จะมาช่วยจัดแจงสถานที่เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปในวัดลงมาให้ประชาชนได้ประกอบพิธีสรงน้ำพระ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญที่ไม่เคยขาด
 เมื่อความรุนแรงปรากฏขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ บรรยากาศที่เคยครึกครื้นและคึกคัก ในพื้นที่เริ่มถูกจำกัดวงให้แคบลงเรื่อยๆ จากเคยเล่นสาดน้ำทั่วทั้งหมู่บ้าน ตลอดทั้งวันสงกรานต์ บัดนี้เหลือเพียงภายในวัดเท่านั้น ที่ชาวบ้านจะใช้เป็นจุดเล่นน้ำสงกรานต์ที่ทุกคนเชื่อว่าน่าจะปลอดภัยที่สุด เมื่อเทียบกับจุดอื่นๆ ทำให้บรรยากาศวันสงกรานต์ในพื้นที่แห่งนี้ อาจเทียบไม่ได้เลยกับในภูมิภาคอื่น
 แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่สร้างความสุขให้แก่พี่น้องไทยพุทธ บริเวณละแวกวัดศรีสาครในวันสงกรานต์ แต่อย่างน้อยประเพณีอันดีงามที่มีมาช้านาน ก็ยังสามารถสืบสานไปได้ท่ามกลางการรอคอยสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง
 "บางปีอาจจะเงียบเหงาไปอย่างถนัดตา เนื่องจากจำนวนชาวบ้านที่ลดน้อยถอยลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบ แต่ไม่มีปีใดที่ทางวัดจะหยุดจัดกิจกรรม สรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนแห่งนี้ อาตมาอยากรักษาภาพบรรยากาศอันดีงาม โดยเฉพาะการทำบุญสรงน้ำพระ ในวันสงกรานต์ และรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ให้คงอยู่สืบไปในพื้นที่ ยังเป็นวิธีการกระตุ้นให้ชาวพุทธในพื้นที่ไม่ทอดทิ้งศาสนสถาน และพระพุทธศาสนา เพราะอย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี ที่พุทธศาสนิกชนได้หิ้วปิ่นโตเข้าวัด และรดน้ำขอพรพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ยังปรากฏขึ้นอยู่อย่างไม่ขาดสาย” พระครูบุญญาธรณ์ กล่าว
 กลิ่นน้ำอบที่ยะลาและปัตตานี พระครูวิเชียรกิตติคุณ กิตติญาโณ เจ้าอาวาสวัดวชิรปราการ อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบต้องยอมรับว่าวิถีพุทธในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เห็นได้ชัดคือพิธีเวียนเทียนโดยเฉพาะวัดที่อยู่รอบนอกหรือพื้นที่ห่างไกลต้องประกอบพิธีในช่วงกลางวัน รวมไปถึงการสวดฌาปนกิจศพก็ต้องร่นเวลาให้เร็วขึ้นเพื่อความปลอดภัย
 ในวันสงกรานต์ก็เช่นกัน พื้นที่ชนบทหรือพื้นที่รอบนอกในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบจะไม่เห็นมากนักกับภาพที่ประชาชนจะวิ่งเล่นสาดน้ำกันสนุกสนานทั่วทั้งหมู่บ้านเหมือนในอดีต ปัจจุบันจุดเดียวที่ยังพอหลงเหลือภาพแห่งความสุขเนื่องในวันสงกรานต์อยู่บ้างคือ พื้นที่เขตวัดเพราะการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ในเขตพัทธสีมา ย่อมมีความปลอดภัยสูงกว่าละเล่นในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่นอกวัด เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาความไม่ปลอดภัย
 “พื้นที่ใดไม่มีพิธีทางศาสนา และกิจกรรมที่วัด ชาวพุทธจะลดจำนวนและหดหายไปจากพื้นที่นั้น สิ่งที่อาตมาต้องการคือการให้วิถีเดิมๆ กลับมาปรากฏในพื้นที่ให้ได้เหมือนเมื่อครั้งวันวานในอดีต แม้วันนี้จะมีชาวบ้านมาร่วมสรงน้ำพระไม่มากมายเหมือนเก่าก่อน แต่อย่างน้อยวันสงกรานต์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อาตมาก็ยังได้กลิ่นอบอวลของดอกมะลิ และน้ำอบไทยที่ชาวพุทธนำมาเพื่อสรงและอาบน้ำพระ ณ วัดแห่งนี้” พระครูวิเชียรกิตติคุณ กล่าว
 ด้านพระปลัดอุดม อริโย เจ้าอาวาสวัดอรัญวาสิการาม อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี  พูดไว้อย่างน่าคิดว่า "นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ มีเพียงไม่กี่งานที่จะสร้างรอยยิ้มให้แก่ชาวพุทธได้ และวันสงกรานต์ เป็นวันหนึ่งที่ทำให้วัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ดูมีชีวิตชีวามากที่สุดในรอบหนึ่งปี แม้ว่าการละเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ จะเกิดขึ้นในอาณาบริเวณเขตพัทธสีมา ที่ด้านนอกรายล้อมพื้นที่วัดจะเต็มไปด้วยทหารหาญถืออาวุธปืนปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังภัยในฐานะรั้วของชาติให้ชาวบ้านได้พบกับความสุขและรอยยิ้ม และแม้ว่าพื้นที่ภายในวัดจะไม่ได้กว้างสุดลูกหูลูกตา แต่อย่างน้อยก็คงพอทำให้ทุกชีวิตได้ลืมช่วงเวลาอันเลวร้ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงลงไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย"
 "นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ มีเพียงไม่กี่งานที่จะสร้างรอยยิ้มให้แก่ชาวพุทธได้ และวันสงกรานต์ เป็นวันหนึ่งที่ทำให้วัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ดูมีชีวิตชีวามากที่สุดในรอบหนึ่งปี" 
 เรื่อง - ภาพ... "สุพิชฌาย์ รัตนะ"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive