Thursday, March 18, 2010

แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านงานศิลป์

แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านงานศิลป์




คมชัดลึก : เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับ "โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางศิลปะและนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 6" ซึ่งวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ สภาศิลปกรรมไทยแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันจัดขึ้นบริเวณอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความคิด กระบวนการสร้างสรรค์ และสุนทรียภาพในงานทัศนศิลป์ อันมีส่วนในการสร้างประสิทธิภาพของการเรียนการสอนศิลปะ และการทำนุบำรุงศาสนา







 รศ.ดร.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงคุณค่าของกิจกรรมที่จัดขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่ทางด้านศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในด้านการเรียนรู้ศิลปะ ที่จะทำให้เยาวชนได้เห็นถึงขั้นตอนและวิธีการทำงานของศิลปินระดับอาชีพ ทั้งกิจกรรมนี้ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงเป็นแหล่งรวมผลงานทัศนศิลป์เพื่อการวิจัยต่อไปในอนาคต
 “กิจกรรมครั้งนี้มีศิลปินที่เข้าร่วมโครงการจาก 12 ประเทศรวมกว่า 120 คน ประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ อ.ถวัลย์ ดัชนี, อ.กมล ทัศนาญชลี, อ.ปรีชา เถาทอง, อ.เดชา วราชุน, อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก รวมถึงศิลปินรับเชิญที่มีชื่อเสียงและอาจารย์จากวิทยาลัยเพาะช่างอย่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง และ ติ๊ก ชิโร่ ฯลฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีศิลปินเข้าร่วมโครงการมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะใช้เวลา 4 วัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้เทคนิคตามความถนัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิก งานปั้น และงานแกะสลัก หลังจากนั้นจะนำผลงานทั้งหมดมาจัดแสดง รวมถึงนิทรรศการศิลปะสัญจร เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และผู้สนใจทั่วไปได้เห็นถึงความก้าวหน้าในการสร้างสรรค์งานศิลปะบนพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง” อธิการบดีกล่าว
 หันมาฟังความเห็นของ อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม เจ้าของผลงาน “แสงยามเช้าที่แม่ฟ้าหลวง” และ “แสงยามบ่ายที่แม่ฟ้าหลวง” กล่าวถึงผลงานทั้ง 2 ชิ้นว่า ใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยสีอะคริลิกบนผ้าใบ เป็นภาพจากการดูดซับบรรยากาศจริงในสถานที่นั้น แล้วถ่ายทอดออกมา ประทับใจอะไรก็จะถ่ายทอดออกมา แต่อาจใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการสร้างบรรยากาศ หรืออาจตัดทอนออกบ้าง
 “สำหรับโครงการนี้จะที่ทำให้ศิลปินจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนทางความคิด วิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีการนำเอาวัฒนธรรมต่างถิ่นมาสู่ประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูง จึงอยากเสนอให้จัดทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่โดยส่วนตัวอยากเสนอให้มีการเพิ่มเติมในเรื่องของการแสดงวิสัยทัศน์ โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะต่อยอดให้มีสาระและมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน เพราะศิลปินแต่ละชาติต่างมีมุมมองและอัตลักษณ์ที่ต่างกันออกไป” ศิลปินแห่งชาติให้ความเห็น
 ฟากศาสตร์เมธี สาขาศิลปกรรมศาสตร์ด้านจิตรกรรมสากล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพเหมือน เจ้าของผลงาน "แม่ฟ้าหลวง" อย่าง อ.ปัญญา เพ็ชรชู กล่าวว่า ครั้งนี้เลือกวาดภาพเหมือนด้วยสีชอล์กตามแนวถนัดของตัวเอง ซึ่งเป็นภาพสมเด็จย่าสมัยที่ท่านยังทรงพระเยาว์ ภาพนี้พระองค์ท่านทรงแย้มพระสรวลแต่ดูแล้วเศร้า ครั้งแรกที่เห็นภาพรู้สึกถูกใจมากและคิดว่ายังไม่เคยมีใครวาดมาก่อน ทั้งยังตั้งใจว่าหลังจากจบงานนิทรรศการแล้ว จะมอบภาพนี้ให้หอศิลป์แห่งนี้ด้วย
 ขณะที่ศิลปินจากแดนมังกร โต้ว ชื่อ เฉียง เจ้าของผลงาน “หอคำ” ซึ่งเพิ่งจะเข้าร่วมโครงการเป็นครั้งแรก บอกว่านอกจากจะได้ชมผลงานที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมของศิลปินจากหลายๆ ประเทศแล้ว เขาเองยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงได้ความประทับใจมากมาย จากสถานที่อันสวยงามอีกด้วย
 “โดยส่วนตัวเป็นคนชอบสิ่งก่อสร้าง สถานที่ รวมทั้งทิวทัศน์ บวกกับเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย ทั้งๆ ที่รู้มานานแล้วว่าสถาปัตยกรรมไทยนั้นโดดเด่นและสวยงาม ครั้งนี้จึงเลือกที่จะวาดภาพหอคำ ด้วยรูปทรงโดดเด่นมีเอกลักษณ์ บวกกับเมื่อได้ทราบว่าด้านบนหอคำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย ก็ยิ่งรู้สึกว่าน่าสนใจมากขึ้นไปอีก” ศิลปินจีนกล่าว 
 ทั้งนี้ ผลงานศิลปะทั้งหมดจะจัดแสดงที่หอแก้ว ภายในอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ไปจนถึง 17 มีนาคม และหอนิทรรศการ ม.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 2-17 สิงหาคม 2553
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive