Saturday, March 20, 2010

หลวงพ่อเจริญ อุทาโน พระหมอยาแห่งบางแพ จ.ราชบุรี

หลวงพ่อเจริญ อุทาโน
พระหมอยาแห่งบางแพ จ.ราชบุรี





คมชัดลึก : วัดท่าราบ เป็นวัดเก่าแก่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี อยู่ในเขตพื้นที่ ต.บางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โดยมีอุโบสถเก่า เป็นถาวรวัตถุที่ความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกจากเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน วัดท่าราบแห่งนี้ยังเป็นศูนย์ชมรมแพทย์แผนไทย โดยพระครูวิทิตวรเวช หรือ หลวงปู่อินทร์ อดีตเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร และการแพทย์แผนไทย และได้เผยแพร่ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้ทางหนังสือต่างๆ ในนาม ส.เปลี่ยนศรี พร้อมได้ก่อตั้งชมรมแพทย์แผนไทยขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔






 เมื่อท่านมรณภาพ ศิษยานุศิษย์ได้สร้างรูปหล่อของท่านและประดิษฐานไว้ที่วิหาร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะกราบไหว้ และศาสตร์ด้านหมอพื้นบ้าน หรือแพทย์แผนไทย หลวงปู่อินทร์ ยังคงได้รับการสืบทอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาของทางการแพทย์แผนไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระครูสังฆารักษ์เจริญ อุทาโน หรือ หลวงพ่อเจริญ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงปู่อินทร์ไว้แน่วแน่
 หลวงพ่อเจริญ บอกว่า พระครูวิทิตวรเวช อดีตเจ้าอาวาสวัดท่า และเจ้าคณะตำบลบางแพหัวโพ ท่านเป็นผู้มีภูมิความรู้ด้านการอนุรักษ์ยาสมุนไพรแบบโบราณ รอบกุฏิและวัดล้วนเต็มไปด้วยต้นสมุนไพรที่ใครๆ สามารถมาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ ท่านได้ปลูกสมุนไพรไม้น้อยกว่า ๓๐๐ ชนิด
 ศึกษาพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมเปิดตำราดูสรรพคุณแต่ละชนิด แล้วเริ่มรักษาโรคให้ประชาชนอย่างง่ายๆ ก่อน เช่น เป็นแผล ฝี ปวดท้อง ต่อมทอนซิลอักเสบ ฯลฯ
 ต่อมา ท่านพบว่า ยาสมุนไพรยังสามารถรักษาโรคได้อีกหลายอย่างจากตำรายาแพทย์แผยโบราณ ท่านจึงรับรักษาโรคโดยไม่คิดค่ารักษาแต่อย่างใด นับว่าท่านเป็นนักภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีความสามารถเด่น และเป็นที่เคารพนับถือของชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
 โรคที่สามารถรักษาให้หายได้ร้อยละ ๙๐ ได้แก่ โรคหืด-หอบ โรคไซนัส โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคกาฬ โรคประดง โรคต่อมลูกหมากอักเสบ โรคตับ-ท้องมาน เป็นต้น
 ในระหว่างที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าราบ จึงได้เริ่มค้นคว้าหาสมุดข่อย ตำรายาสมุนไพรจากแหล่งต่างๆ มาแปลแล้วนำสูตรยามาเปรียบเทียบและปรับปรุงให้เหมาะกับโรคในปัจจุบัน โดยรักษาตามอาการของผู้ป่วย และยังพบปัญหาการหมดอายุของตัวยาสมุนไพรในการนำสูตรยาไปเจียดตามร้านยาสมุนไพรต่างๆ แล้วนำมารับประทานไม่หายจากอาการเจ็บป่วย จึงได้แต่งตั้งชมรมยาสมุนไพร เพื่อแลกเปลี่ยนตัวยาที่มีความสดคุณภาพดี
 ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการในพระราชดำริเรื่องยาสมุนไพร เปิดโรงเรียนสอนแพทย์แผนไทยที่วัดท่าราบ เนื่องจากเมื่อก่อนหมอยาสมุนไพรเจียดยารักษาแล้วมีความผิด เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตในการรักษาโรค จึงเปิดสอนเพื่อนำความรู้ไปสอบเป็นแพทย์แผนไทยประจำโรงพยาบาลต่างๆ และตามร้านยาสมุนไพรทั่วไป
 ประโยชน์ยาสมุนไพรเป็นตัวยาที่ได้จากพืชเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ดังเช่นยาแผนปัจจุบันทั่วๆ ไป อีกทั้งยังเป็นตัวยาที่สามารถหาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไป และยังมีราคาถูก ผู้ป่วยสามารถที่จะรักษาได้ ถึงแม้จะมีเงินน้อย 
 นอกจากการรับรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรแล้ว ท่านยังจัดพิมพ์หนังสือยาสมุนไพรแจกให้แก่ประชาชนที่มาทำบุญที่วัดท่าราบทุกปี ปีละ ๒๐,๐๐๐ เล่ม เพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล โดยท่านทำมาแล้วเป็นเวลากว่า ๑๓ ปี
 และปัจจุบัน วัดท่าราบยังเป็นที่ตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณในชนบท และชมรมอนุรักษ์สมุนไพร โดยท่านเป็นผู้อำนวยการและประธานชมรม
 ด้วยประสบการณ์พระครูวิทิตวรเวชได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นนักอนุรักษ์สมุนไพรคนสำคัญในวงการแพทย์แผนโบราณ กล่าวคือ ได้รับพระราชทานโล่เป็นเกียรติในฐานะสนับสนุนหลักสูตรพิเศษโครงการพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร ได้รับวุฒิบัตรในการอบรมวิทยากรโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร ได้รับเกียรติบัตรในการเสียสละไปเป็นครูสอนปริยัติธรรม ได้รับเข็มเครื่องหมายมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในการเสียสละเวลาเขียนแนะนำ ยาสมุนไพรในนิตยสาร ม.ส.ท. โดยไม่คิดค่าเขียน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๕ ถึงปัจจุบันทุกเดือน เป็นเข็มทองลงยาประดับเพชร และได้รับเกียรติบัตรของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย
 ทุกวันนี้ วัดท่าราบแห่งนี้ยังเป็นศูนย์ชมรมแพทย์แผนไทย โดยพระครูสังฆารักษ์เจริญ ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงปู่อินทร์ ใครเจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ สอบถามเพื่อรักษาโรคได้ที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โทร.๐-๓๒๓๘-๑๑๕๗
หมอพระแห่งพุทธกาล "ฤาษีชีวกโกมารภัจจ์" เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรค และมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารนอกจากจะแต่งตั้งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ประจำพระองค์แล้ว ยังมอบให้รับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำองค์พระศาสดา และภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอีกด้วย หมอชีวกโกมารภัจจ์เคยถวายการรักษาแด่พระบรมศาสดาครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ
 ครั้งแรก ได้ปรุงยาระบายชนิดพิเศษถวาย เพื่อระบายสิ่งหมักหมมในพระวรกายออก ครั้งที่ ๒ ในคราวที่พระเทวทัตกลิ้งหินหมายปลงพระชนม์พระศาสดา แต่หินกลิ้งไปผิดทาง มีเพียงสะเก็ดหินก้อนเล็กๆ กระเด็นมากระทบพระบาทจนทำให้พระโลหิตห้อขึ้น หมอชีวกได้ปรุงพระโอสถพอกที่แผล แล้วใช้ผ้าพันแผลไว้ พอรุ่งขึ้นตอนเช้าแผลก็หายสนิทเป็นปกติ
 นอกจากนี้ หมอชีวกยังให้การรักษาพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคต่างๆ โดยไม่คิดมูลค่า จนไม่ค่อยจะมีเวลารักษาให้คนทั่วๆ ไป เพราะท่านหมอมีความห่วงใยพระภิกษุสงฆ์มากกว่า จึงเป็นเหตุให้คนบางพวกเมื่อเจ็บป่วยหรือเป็นโรคขึ้นมา ก็พากันมาบวช เพื่อสะดวกแก่การให้หมอรักษา พอหายดีแล้วก็ลาสิกขาไป
 สมัยหนึ่ง ในพระนครราชคฤห์เกิดโรคสกปรก โรคติดต่อและโรคร้ายแรง ระบาดไปทั่วกรุง และจังหวัดใกล้เคียง เช่น กุฏฐัง โรคเรื้อน คัณโฑ โรคฝีดาษ กิลาโส โรคกลาก โสโส โรคไข้มองคร่อ อปมาโร โรคลมบ้าหมู
 ด้วยเหตุนี้ วันหนึ่งหมอชีวกเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลขอพรว่า ขออย่าได้บวชให้คนที่มีโรคติดต่อทั้ง ๕ ชนิดข้างต้นเลย พระพุทธองค์ประทานให้ตามที่กราบทูลขอ และได้ประกาศให้ภิกษุสงฆ์ทราบโดยทั่วกัน ตั้งแต่นั้นมา คนที่เป็นโรคทั้ง ๕ ชนิดนั้น ก็ไม่สามารถบวชในพระพุทธศาสนาได้
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive