Thursday, March 18, 2010

ไวแมกซ์แก้คนไข้ล้นรพ.ประหยัดเวลาค่าเดินทาง

ไวแมกซ์แก้คนไข้ล้นรพ.ประหยัดเวลาค่าเดินทาง



คมชัดลึก :"จะให้ช่วยตรวจโรคอะไรครับ" "สงสัยคนไข้เป็นโรคผิวหนังค่ะ!!" "ใช่โรคผิวหนังครับ ขยายภาพลูกตาของคนไข้ซิ" "เริ่มเป็นต้อลมแล้ว ส่งคนไข้มาตรวจตาที่โรงพยาบาลด้วย"






 บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างนพ.สมปรารถน์หมั่นจิต ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของอ.เชียงของ   จ.เชียงราย กับน.ส.กาญจนากันทะวงค์ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนสถานีอนามัยทุ่งงิ้ว จ.เชียงราย และคนไข้ในการสาธิตเทคโนโลยีไวแมกซ์ (WiMAX) ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่แบบสนทนาเห็นหน้าได้โดยมีแพทย์  พยาบาล เภสัชกร คอยให้ความรู้ คำปรึกษาในการรักษาโรค จ่ายยาแก่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและคนไข้
นพ.สมปรารถน์ เล่าว่า โครงการนำร่องเทคโนโลยีไวแมกซ์เพื่อสร้างช่องทางสื่อสารแบบใหม่ระหว่างศูนย์กลางที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกับศูนย์รับส่งปลายทาง เช่น สถานีอนามัย รถพยาบาลฉุกเฉินเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ที่มี ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นประธานมูลนิธิ กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีไวแมกซ์ เริ่มดำเนินโครงการเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 20,851,871 ล้านบาทและบริหารโครงการในรูปแบบคณะกรรมการซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ 15 คน
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของมีขนาด90 เตียง มีสถานีอนามัยเครือข่าย 17 แห่ง ให้บริการรักษาพยาบาลประชาชนทั้งสิ้น 60,702 คนใน 7 ตำบล โดยเทคโนโลยีไวแมกซ์มีรัศมีสูงสุด 50 กิโลเมตร แต่ระยะแรกของการนำร่องโครงการสามารถใช้ได้ในรัศมี 5 กิโลเมตร และมีสถานีอนามัยเครือข่ายในตำบล 3 แห่ง ได้แก่ สถานีอนามัยทุ่งงิ้ว สถานีอนามัยน้ำม้า และสถานีอนามัยตำบลเป็นศูนย์รับส่งปลายทาง 
กว่า1 ปีที่ผ่านมาของการดำเนินโครงการ โรงพยาบาลได้จัดเวรแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรประจำในห้องพยาบาลฉุกเฉินซึ่งเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีไวแมกซ์ เพื่อให้คำปรึกษาในการตรวจรักษาโรค มีการขอคำปรึกษาในการตรวจรักษาโรค ได้แก่ โรคระบบไหลเวียนเลือด โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง การบาดเจ็บและเป็นพิษ โรคติดเชื้อและปรสิต โรคตารวมส่วนประกอบของตา โรคระบบย่อยอาหารและโรคในช่องปาก โรคระบบกล้ามเนื้อ โครงร่างและเนื้อยึดเสริมและโรคระบบหายใจ 
นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาในการจ่ายยาแก่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ การใช้ยา อาหาร การดูแลรักษาสุขภาพและออกกำลังกายแก่ชาวบ้านด้วย ขณะเดียวกันโรงพยาบาลได้ประสานไปยังโรงพยาบาลเชียงรายเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เช่น การให้ยาแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการตายสูง 
"ขณะนี้ไวแมกซ์ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ใช้สื่อสารกับรถพยาบาลฉุกเฉินได้ในรัศมีแค่ 4.5 กิโลเมตร แต่ก็มีประโยชน์ต่อแพทย์ ช่วยลดคนไข้ล้นโรงพยาบาลซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 300 คนต่อวัน ขณะที่โรงพยาบาลมีแพทย์ 5 คน ขณะนี้ลดคนไข้ได้เดือนละ 30 คน ตั้งเป้าจะลดคนไข้เหลือ 150 คนต่อวัน โดยคนไข้จำนวนหนึ่งมาเพื่อขอรับยาโดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีอยู่ 5,000 คนก็ใช้ไวแมกซ์ให้คำปรึกษาแก่สถานีอนามัยเพื่อช่วยจ่ายยาแก่คนไข้กลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นเจ้าหน้าที่อนามัยมีความรู้ในการรักษา จ่ายยามากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย กับชุมชนดีขึ้น อีกทั้งชาวบ้านได้รับการรักษาที่ปลอดภัยมากขึ้น ประหยัดค่าเดินทาง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และเป็นแหล่งความรู้ด้านอาชีพ เช่น การเลี้ยงกบ ไก่ ปลา ทอผ้า" นพ.สมปรารถน์แจกแจงถึงการใช้ไวแมกซ์
พร้อมกับอธิบายถึงแผนงานในอนาคตเตรียมเสนอของบประมาณ30 ล้านบาท จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อนำมาใช้ขยายโครงการให้ครอบคลุมทั้ง 7 ตำบลโดยให้มีศูนย์กลางของไวแมกซ์ตำบลละ 1 แห่ง รวมทั้งขยายผลไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและโรงพยาบาลทั่วประเทศ
น.ส.กาญจนาบอกว่าใช้ไวแมกซ์ขอคำปรึกษาจากแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือโรคยากๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเริม ซึ่งต้องการคำวินิจฉัยจากแพทย์ ไวแมกซ์ช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาสะดวกขึ้น ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง หากสนทนากับแพทย์ผ่านไวแมกซ์แล้วเห็นว่าต้องส่งคนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็ไปรับการรักษาได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอคิว สนใจเยี่ยมชมโครงการไวแมกซ์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ติดต่อโทร.0-5379-1206, http://cro.moph.go.th/hosp/hosp03
0ธรรมรัช  กิจฉลอง
 










NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive