Wednesday, March 31, 2010

ตัวอักษรป้อนโลกใหม่

ตัวอักษรป้อนโลกใหม่





คมชัดลึก :เมื่อการเปิด "หนังสือ" เป็นเสมือนการเปิดโลกใบใหม่ให้แก่ผู้อ่าน ตัวอักษรที่ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องราวบนแผ่นกระดาษ จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมความรู้จากทั่วทุกมุมโลก และพร้อมให้หนึ่งสมองและสองมือของทุกคนเก็บเกี่ยวข้อมูลต่างๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งยังเป็นการส่งเสริมวิวัฒนาการของมนุษย์ให้เป็นคนได้อย่างสมบูรณ์







  แต่เมื่อการอ่านต้องอาศัยทั้งเวลาและความเข้าใจ ประกอบกับความทันสมัยที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทำให้นิสัยรักการอ่านของมนุษย์เริ่มลดน้อยถอยลง และเพื่อเป็นการปลูกฝังให้ทุกคนหันกลับมารักการอ่านอีกครั้ง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จึงรวมตัวกันเพื่อจัดงาน "สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38" และ "งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 8" ขึ้น โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน
 และคงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า "การอ่าน" เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทุกแขนงทั้งยังเป็นการต่อยอดการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต นี่เองที่ส่งให้ใครต่อใครประสบความสำเร็จในชีวิตมาแล้วนักต่อนัก เริ่มจาก พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) พระนักวิชาการนักคิดนักเขียนพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ ที่รักการอ่านมาตั้งแต่วัยเยาวัและไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ในย่ามจะต้องมีหนังสือหนึ่งหรือสองเล่มพกติดตัวไปด้วยเสมอ
 "การอ่านหนังสือของเด็กไทยถ้าเทียบกับสมัยก่อนถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่เพิ่มขึ้นในแง่ของปริมาณ แต่ในแง่ของคุณภาพยังไม่เพิ่ม เพราะการอ่านของเด็กในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นพวกนวนิยายใสๆ ไม่ใช่หนังสือที่มีคุณภาพเท่าที่ควร ยังคงเป็นเรื่องรักประโลมโลกหนังสือวิชาการอย่างวรรณกรรมที่มีประโยชน์เยาวชนไทยไม่ค่อยจะอ่านกัน แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการอ่านที่น่ายินดีมาก หนังสือที่ดีในแง่ของธรรมะ คือ หนังสืออะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือธรรมะ แต่ต้องเป็นหนังสือที่ให้ผู้อ่านรู้จักคิด รู้จักจินตนาการ และเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าหนังสือมีสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่ดี ดังนั้นหนังสือที่สอนให้คนอ่านรู้จักคิดคือหนังสือประเภทศาสนา ประวัติศาสตร์ หนังสือที่สอนให้คนจินตนาการ คือหนังสือประเภทวรรณกรรม หนังสือที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ คือหนังสือประวัติบุคคลสำคัญ" พระอาจารย์นักเขียนแจง
 พร้อมกับกล่าวเสริมว่า ปริมาณการอ่านหนังสือของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคือการได้รับอานิสงส์จากหนังสือ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ต้องยอมรับในคุณูปการของเขา ส่วนหนังสือที่อ่านเพื่อความบันเทิงนั้น ผู้อ่านควรจะคิดด้วยว่าการอ่านเพื่อความมันเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ คุ้มกับเวลาที่เสียไปกับการอ่านหรือเปล่าด้วย
 ด้าน องคมนตรี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ที่มักจะมีหนังสือติดอยู่ในกระเป๋าตลอดเวลา เผยว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือสามารถอ่านได้ทุกที่และทุกเวลา และเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก สมัยที่อยู่จังหวัดพิจิตรจะมีห้องสมุดประชาชนของชุมชน ก็มักจะเข้าไปอ่านหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนั้นเป็นประจำ และไม่ได้จำกัดประเภทของหนังสือที่อ่าน แต่หนังสือที่ชอบอ่านมากที่สุด คือหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ระยะหลังยังเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาและธรรมะ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
 "ส่วนตัวผมจะชอบอ่านหนังสือความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ ผมว่าหนังสือเล่มนี้มีความลึกซึ้งดี นำเสนอให้ดูง่ายทำให้เข้าใจในแนวความคิดและการสอนของท่านพุทธทาส สำหรับเด็กไทยต้องบอกว่า อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ยังต้องกระตุ้นให้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว และห้องสมุดประชาชนที่อยากจะให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทำห้องสมุดประชาชน ภายใต้การรับผิดชอบของกสน. ถึงแม้จะมีงบประมาณจำกัดถ้า อบต. แห่งไหนที่ยากจน อบจ. ควรจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พยายามหาหนังสือที่มีประโยชน์มาไว้ในห้องสมุดซึ่งผมว่าทุกอบต. ควรจะทำแบบนี้" องคมนตรี ชี้แนะ
 พร้อมกับเสริมว่า การอ่านเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เห็นได้จากประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษที่ได้ทำการวิจัยในกลุ่มพ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ 6 เดือน-1 ขวบ เด็กกลุ่มนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี เมื่อเทียบเท่ากับกลุ่มพ่อแม่ที่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟัง คือ 1. เด็กกลุ่มนี้จะพูดได้เร็วและมีคำศัพท์ที่มากกว่าเด็กทั่วไป 2. มีพัฒนาการเรื่องการตั้งคำถาม 3. มีความใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว เช่น ยาย ป้า น้า อา ที่มานั่งอ่านหนังสือให้ฟัง 
 "เมื่อเข้าสู่อนุบาลครูพี่เลี้ยงต้องสามารถเล่านิทานและอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กได้รู้จักคิดสิ่งเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่เป็นผู้ป้อนให้ เมื่อเข้าสู่ช่วงประถมและมัธยมศึกษา ควรจะเปิดทางให้เด็กได้อย่างหนังสือนอกเวลาให้มากขึ้น ยิ่งเด็กในช่วงประถมศึกษาครูจะต้องมีหน้าที่จูงเด็กให้เข้าห้องสมุด บรรณารักษ์เองต้องคิดในมุมกลับว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้น ต้องหากิจกรรมชักจูงให้เด็กอยากจะเข้าห้องสมุด ไม่ใช่นั่งรอให้เด็กมายืมหนังสืออย่างเดียว ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องช่วยกันหาทางให้เด็กรักการอ่าน มีวิธีมากมายหรือจะไปศึกษาวิธีการเหล่านี้จากต่างประเทศก็ได้" องคมนตรีแจกแจง
 ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ยอมรับว่าเด็กสมัยนี้มีโอกาสอ่านหนังสือที่ดีและมีประโยชน์มากกว่าสมัยที่ตัวเองเป็นเด็กมาก เพราะสมัยก่อนหนังสือที่มีให้อ่านมีเพียงแต่หนังสือเรียนเท่านั้น ส่วนตัวแล้วหนังสือเป็นเหมือนเพลงที่สามารถฟังได้ทุกเวลา หนังสือก็เหมือนกันสามารถอ่านได้ทุกเวลา ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ไปในตัวด้วย ซึ่งแนวโน้มของเด็กไทยในการอ่านหนังสือมีเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ควรจะอ่านหนังสือให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รับความรู้ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
 เมื่อ "การอ่าน" ส่งผลดีขนาดนี้ แล้วจะรอช้าอยู่ทำไมกัน...
 








ข่าวที่เกี่ยวข้อง"สันต์"นายกกรีฑาต่อ
เป้าทองเอเชี่ยนเกมส์
แอนดรอยด์พะยี่ห้อ"เวลคอม"เทคนิคเข้าสังคมออนไลน์สไตล์Fukduk.tvแฟชั่นคอนเนอร์-ชุดน่ารักของวัยซนให้ชีวิตใหม่แก่บุพการีการตอบแทนของลูกกตัญญู

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive