Friday, February 1, 2013

เป็ดหางแหลม

เป็ดหางแหลม
               ทุกๆ เดือนมกราคม ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียจะมีกิจกรรมนับนกน้ำกลางฤดูหนาว (Mid-winter Asian Waterbird Census) ที่มีชื่อย่อว่า AWC โดยปีนี้สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) กำหนดไว้ให้อาสาสมัครทั่วประเทศนับนกน้ำในจุดสำรวจที่กำหนดไว้ในช่วงวันที่ 20-31 มกราคม                 นกน้ำส่วนใหญ่ในเมืองไทยอพยพหนีหนาวจากทางเหนือ วิถีชีวิตของมนุษย์มักมีการพึ่งพิงแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของนกเหล่านี้โดยตรง และพื้นที่ชุ่มน้ำโดยมากก็ไม่ได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ โครงการอนุรักษ์ของนกเหล่านี้ จึงต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายภาคส่วนในทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง สาเหตุที่ต้องนับกันในเดือนมกราคม เพราะเป็นช่วงที่นกทุกชนิดล้วนอยู่ในถิ่นอาศัยช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) นกน้ำบางกลุ่ม เช่น นกเป็ดน้ำ (waterfowls) อพยพมาอยู่เพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น เป็ดที่อพยพมาอาศัยในประเทศไทยช่วงฤดูหนาวมากที่สุดได้แก่ เป็ดหางแหลม (Northern Pintail) และเป็ดลาย (Garganey)                 ทั้งสองชนิดล้วนเป็นเป็ดหากินตามผิวน้ำ (dabbling ducks) เป็ดกลุ่มนี้เองที่เรามักพบเป็นจำนวนมากที่สุด ชนิดอื่นๆ ที่พบได้ในเมืองไทยก็มักพบหากินปะปนในฝูงเป็ดสองชนิดดังกล่าว โดยเฉพาะเป็ดหางแหลม ซึ่งจัดว่ามีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ใกล้เคียงกับขนาดตัวชนิดอื่นๆ มากกว่าเป็ดลาย มักพบรวมฝูงลอยน้ำหากินตะไคร่และพืชน้ำในทะเลสาบขนาดใหญ่ แต่บางครั้งก็กินสัตว์น้ำเล็กเป็นอาหาร คอที่ยาวช่วยให้มันสามารถหาอาหารที่อยู่ลึกกว่าเป็ดอื่นๆ ได้ด้วย ขณะบินเป็นฝูงมันก็มักเรียงแถวกันเป็นระเบียบ                 เป็ดหางแหลมเป็นเป็ดที่มีสัดส่วนเพรียวยาวสะโอดสะอง เพศผู้ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์มีขนหางสีดำแหลมยาวสมชื่อ ลำตัวด้านบนสีเทา ขนคลุมหลังยาวและมีแกนขนสีดำ หัวสีน้ำตาลเข้ม คอและอกสีขาว มีขนปีกชั้นในสีเขียวมรกต ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขณะบิน ส่วนเพศเมียส่วนใหญ่ตัวสีน้ำตาลและมีลวดลายทั่วทั้งตัว เพศผู้ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มีลักษณะโดยรวมคล้ายตัวเมีย แต่บริเวณลำตัวสีน้ำตาลอมเทา คอสีขาวนวลกว่า และมีขอบปากสีดำ                 นอกจากจะเป็นหนึ่งในนกเป็ดน้ำอพยพที่พบมากที่สุดในไทยแล้ว เป็ดหางแหลมยังเป็นเป็ดที่บินไกลที่สุดในช่วงอพยพด้วย มันทำรังวางไข่ในที่ราบทุนดราทางตอนเหนือของทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา ในภูมิอากาศที่หนาวเย็นกว่าเป็ดหากินตามผิวน้ำชนิดอื่นๆ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวบางฝูงอาจอพยพลงมาต่ำจนถึงเส้นศูนย์สูตรเลย   .......................................... (เป็ดหางแหลม : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)                                   

No comments:

Post a Comment

Blog Archive