Friday, February 1, 2013

เยือนเฉิงตู เยี่ยมบ้านเกิดแพนด้า

เยือนเฉิงตู เยี่ยมบ้านเกิดแพนด้า
               ทันทีที่เหยียบย่างสู่ "นครเฉิงตู" อุณหภูมิความเย็นที่แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสในเมืองไทยช่วงกลางเดือนธันวาคม ก็ได้แผ่ซ่านเข้ากระทบผิวกายอย่างที่ต้องรีบงัดเสื้อกันหนาวอย่างหนาที่เตรียมพร้อมไปด้วย ออกมาสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย พอออกจากสนามบินเฉิงตู จึงได้ทราบว่า ณ นาทีนั้น อุณหภูมิแค่ 12 องศาเซลเซียส                 "นครเฉิงตู" เป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวน 1 ใน 3 มณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีเนื้อที่ทั้งหมด 485,000 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นลักษณะแอ่งกระทะ ช่วงพื้นราบแอ่งกระทะจะเป็นพื้นดินอุดมสมบูรณ์ น้ำฝนมีปริมาณเพียงพอ สภาพอากาศเหมาะแก่การปลูกข้าวและพืชผลต่างๆ เฉิงตูจึงได้รับสมญานามว่า "เทียนฝู่จือกว๋อ" ซึ่งหมายถึง ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ดั่งเมืองสวรรค์                 ปัจจุบัน นครเฉิงตู ได้พัฒนาเป็นเมืองที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง มีระบบคมนาคมทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งเทศบาลเฉิงตูกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในอนาคตว่า จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน การคมนาคม และการสื่อสารที่ทันสมัยในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน                 "ถนนคนเดินควนจ่ายเซี่ยงจื่อ" คือเป้าหมายแรกของทัวร์วัฒนธรรมกับ "ซีพี ออลล์" และ "อาศรมสยาม-จีนวิทยา" ในทริปนี้ อาคารร้านค้าบนถนนคนเดินควนจ่ายเซี่ยงจื่อ มีลักษณะเป็นอาคารสไตล์ซื่อเหอย่วน โดยคนจากจีนทางเหนือ ยุคราชวงศ์ชิง มาสร้างไว้ เป็นหนึ่งในเขตอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเฉิงตู                 การแสดง "อุปรากรจีนเปลี่ยนหน้ากาก" เป็นอีกอย่างที่ใครไปเฉิงตูต้องแวะไปดู ที่ โรงละครสู่ฟงหย่ายวิ่น เป็นโรงละครขนาดกะทัดรัด รวบรวมเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของมณฑลเสฉวน ข้างในจะมีบรรดานักแสดงจะมานั่งแต่งหน้าแต่งตาตัวเองโชว์แขกผู้มาเยือน                 อุปรากรจีนเปลี่ยนหน้ากาก หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "งิ้วเปลี่ยนหน้ากาก" เป็นไฮไลท์ของการแสดงทั้งหมดที่มีประมาณ 7-8 ชุด ลักษณะเด่นอยู่ที่การเปลี่ยนหน้ากากที่มีสีสันฉูดฉาดทีละหน้าโดยไม่ซ้ำกันภายในเวลาอันรวดเร็ว ประกอบด้วยท่วงท่าลีลา และทำนองดนตรีที่กระฉับกระเฉง สนุกสนานครึกครื้นตื่นเต้น ถือเป็นการประยุกต์ศิลปะการแสดงอุปรากรจีนเข้ากับการแสดงมายากล สร้างความโดดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แก่อุปรากรจีนพื้นบ้านของมณฑลเสฉวนจนเป็นที่นิยมชมชอบของทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ                 วันที่สอง ต้องยกขบวนกันออกแต่เช้า เพื่อมุ่งหน้าสู่ มหานครฉงชิ่ง ด้วยรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 313 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง                 "ฉงชิ่ง" หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "ซานเฉิง" หมายถึงเมืองแห่งขุนเขา                 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 1997 รัฐบาลจีนได้ยกฐานะเมืองฉงชิ่ง ให้เป็น 1 ใน 4 มหานครของจีน อันได้แก่ มหานครเซี่ยงไฮ้ มหานครปักกิ่ง มหานครเทียนสิน และมหานครฉงชิ่ง โดยมหานครทั้ง 4 นี้จะขึ้นต่อรัฐบาลกลางโดยตรง                 "มหานครฉงชิ่ง" เป็นมหานครที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของจีน มีเนื้อที่ทั้งหมด 82,400 ตารางกิโลเมตร เฉพาะตัวเมืองฉงชิ่ง มีเนื้อที่ถึง 1,136 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีประชากรมากถึง 33.03 ล้านคน มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งยังเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ในด้านการเมือง การทหาร และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน                 ฉงชิ่ง ตั้งอยู่ตอนต้นของแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำเจียหลิงเจียง กับแม่น้ำแยงซีเกียง พื้นที่แถบนี้เป็นจุดเชื่อมที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต กับที่ราบแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ดังนั้นจึงเป็นดินแดนที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเข้ากับภาคตะวันออกและภาคใต้ เมืองฉงชิ่งจึงเป็นเมืองสำคัญที่รัฐบาลจีนเลือกให้เป็นเมืองนำร่องในการพัฒนาภาคตะวันตกเฉียงใต้ตามนโยบายการพัฒนาประเทศ                 มหานครฉงชิ่ง ยังถูกวางบทบาทให้เป็น "เมืองหลวงสำรอง" ในยามที่ประเทศชาติต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอก เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารงาน และเป็นฐานที่มั่น ซึ่งในอดีตฉงชิ่ง เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งมาแล้ว ในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานประเทศจีน เพราะมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์คือ มีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ทำให้ยากแก่การถูกโจมตี   เป้าหมายแรกที่มาถึงฉงชิ่ง คือ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผังเมือง ที่จัดแสดงประวัติและการออกแบบผังเมือง เพื่อจัดการพื้นที่ 82,400 ตารางกิโลเมตร ให้สามารถรองรับจำนวนประชากรที่มีมากถึง 30 ล้านคน เป็นการจัดแสดงผังเมืองในลักษณะของโมเดลประกอบแสง สี เสียง ในห้องโถงขนาดใหญ่                 จากนั้นไปชมร้านค้าย่านริมแม่น้ำแยงซีเกียง ที่ก่อสร้างอาคารตามแบบโบราณ เลาะเลียบตามแนวภูเขา เป็นย่านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และอาหารท้องถิ่นของชาวเสฉวนขนานแท้ที่มีรสชาติเผ็ดร้อน เพื่อเป็นการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้อบอุ่น เพราะมหานครฉงชิ่งจะมีความหนาวเย็นเกือบทั้งปี โดยช่วงที่เดินทางไปนั้น อุณหภูมิอยู่ที่ 12-15 องศาเซลเซียส  วันรุ่งขึ้น ก่อนเดินทางกลับเฉิงตู ชาวคณะมีโอกาสเยี่ยมชม "ศาลามหาประชาคมต้าหลี่ถาง" ที่ประชุมสภาประชาชนของมหานครฉงชิ่ง ก่อนข้ามฝั่งมาชมพิพิธภัณฑ์ซานเสีย แหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ชีวิตคนท้องถิ่นในช่วงก่อนการสร้างเขื่อนยักษ์ซานเสีย เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กั้นแม่น้ำแยงซีเกียง ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานถึง 17 ปี                 เนื่องจากบริเวณที่ปล่อยให้ถูกน้ำท่วมมีพื้นที่กว้างนับพันตารางกิโลเมตร หลายพื้นที่เป็นแหล่งชุมชนเก่าและโบราณสถานสำคัญ มีวัตถุโบราณล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นทางการจีนจึงเห็นชอบให้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ซานเสีย เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2000 เก็บรักษาโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าไว้ถึง 170,000 ชิ้น                  ไฮไลท์การท่องแดนมังกรทริปนี้ คือ การเข้าชม ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยหมีแพนด้า แห่งนครเฉิงตู เป็นสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ตั้งอยู่บน เขาฝู่โถว เขตชานเมืองทางทิศเหนือของนครเฉิงตู ก่อตั้งเมื่อปี 1987 มีพื้นที่ 153 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีแพนด้าอยู่ที่ศูนย์นี้มากกว่า 100 ตัว นอกจากนี้ยังมี แพนด้าแดง ลิงขนทอง นกกระเรียน และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ                 ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จินซา แหล่งโบราณคดีสำคัญของนครเฉิงตู มีการจัดแสดงซากฟอสซิล ภาพจำลองการทำมาหากิน ห้องแสดงโบราณวัตถุล้ำค่า และหน้ากากสัมฤทธิ์จำนวนมากของชนเผ่าโบราณอันลึกลับอายุกว่า 3,000 ปี เครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยปลายยุคราชวงศ์ซาง จนถึงต้นราชวงศ์โจว และบางส่วนเป็นวัตถุโบราณสมัยชุนชิวจ้านกว๋อ ในช่วง 1,300-220 ปีก่อนคริสต์ศักราช...                 มาเมืองจีนไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ช่วยย่นระยะเวลาให้เราได้รู้จักเมืองจีนมากขึ้นจริงๆ   ...................................... (เยือนเฉิงตู เยี่ยมบ้านเกิดแพนด้า เจาะลึกมหานครฉงชิ่ง : คอลัมน์ท่องโลกต่างแดน : โดย...เรื่อง // ภาพ : เสด็จ บุนนาค)  

No comments:

Post a Comment

Blog Archive