Monday, February 4, 2013

รู้จักโจเบิร์ก

รู้จักโจเบิร์ก
               เคปทาวน์ทำให้จากมาด้วยรอยยิ้ม เมืองอะไรไม่รู้มีทั้งภูเขาโต๊ะและผ้าปูโต๊ะด้วย บางทีก็เหมือนมีใครเล่นกล ลมกระพือประเดี๋ยวเดียว ผ้าปูโต๊ะสีขาวก็หายวับไปจากแผ่นฟ้า               เคปทาวน์หอบลมเย็นไปส่งถึงสนามบิน ยังไม่ได้ออกนอกชายคาประเทศแอฟริกาใต้ แต่จะมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปหาเมืองใหญ่ของประเทศอย่าง โจฮันเนสเบิร์ก หรือที่เรียกกันสั้นๆ จนติดปากว่า "โจเบิร์ก”               สำหรับคนที่มาจากขวานทอง จากกรุงเทพไปโจฮันเนสเบิร์ก สายการบินเอมิเรตส์ (0-26641040-5) มีเที่ยวบินไปโจฮันเนสเบิร์กทุกวัน แต่ต้องแวะไปเปลี่ยนที่ดูไบก่อน เดี๋ยวนี้จากกรุงเทพบินไปดูไบด้วยเที่ยวบินแอร์บัส A380 เครื่องบิน 2 ชั้นที่จุผู้โดยสารได้เกือบ 500 คน โดยตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป เที่ยวบินกรุงเทพ-ดูไบ จะเปิดให้บริการ 35 เที่ยวบินต่อสัปดาห์               โจฮันเนสเบิร์กยามวิกาลทำให้มวนท้องเล็กน้อย เมื่อสนนราคาค่าแท็กซี่เข้าเมืองคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ราวๆ 1 พันบาท เลยเดินเร่ไปหารถไฟไฮสปีดที่วิ่งเข้าเมืองใช้เวลา 15 นาที ราคาคนละ 115 แรนด์ ซึ่งคิดเป็นเงินบาทก็คนละ 300 กว่าบาท ไม่เบาเหมือนกัน แต่รถไฟเที่ยวสุดท้ายบอกลาชานชาลาไปแล้ว                เรื่องนั่งรถเมล์นั่นลืมไปได้เลย เพราะถือเป็นกฎกติกาของนักเดินทางที่มาที่นี่ ว่าหลังจาก 6 โมงเย็นหรือเมื่อแสงบอกลาไปแล้ว เราไม่ควรเดินเพ่นพ่านหรือเป็นเป้าสายตา เพราะอาจโดนมิจฉาชีพซิวทรัพย์ได้               พันก็พัน ทำไงได้ไม่อยากถูกมิจฉาชีพเกาะแกะ ฉันกางลายแทงให้แท็กซี่ บอกจุดหมายของเรือนพักใน ย่านแซนด์ตัน ที่จับจองไว้จากเว็บไซต์อโกดา(www.agoda.com) ที่จริงโจฮันเนสเบิร์กมีเรือนพักให้เลือกหลายจุดก็จริง แต่นักเดินทางส่วนใหญ่ก็มักเลือกไปพักแถวแซนด์ตัน เพราะเป็นย่านที่ปลอดภัยและเดินทางสะดวก เพราะมีสถานีรถใต้ดินและแวดล้อมไปด้วยเรือนพัก ช็อปปิ้งมอลล์ และออฟฟิศของบริษัทข้ามชาติ ย่านนี้จึงได้รับความไว้วางใจจากนักเดินทางว่าปลอดภัยหายห่วง               เช้าวันรุ่งขึ้นนั่นแหละ ถึงได้เห็นโจฮันเนสเบิร์กเต็มตา  แซนด์ตันเป็นหย่อมย่านของความเจริญอย่างจริงแท้               เดินเตร็ดเตร่อยู่แถวนี้แล้วทำให้เชื่อว่า โจฮันเนสเบิร์กคือศูนย์กลางความเจริญทางด้านธุรกิจ และการค้าที่สำคัญที่สุดของแอฟริกาใต้ มองผาดๆ เหมือนอยู่แถวย่านวอลล์สตรีทบนเกาะแมนฮัตตัน หรือไม่ก็ในดูไบที่แออัดไปด้วยตึกสูง เพราะมีทั้งป้าย HSBC, CITI BANK ไปจนถึงบริษัทชื่อดังของโลกอีกหลายแห่งที่ล้อมหน้าล้อมหลังฉันอยู่ ยังไม่นับตึกสูงที่ด้านในซ่อนห้างและช็อปปิ้ง มอลล์ เอาไว้ให้ช็อปอีกเพียบ เรียกว่าถ้าไม่อยากพาตัวเองไปเจอมุมเสี่ยงๆ ของโจฮันเนสเบิร์กก็ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ล่ะ               แต่บังเอิญฉันเป็นพวกอยากเห็นตัวตนของเมือง จะมาเดินกรีดกรายอยู่แถวแซนด์ตันก็ใช่ที่ เพราะนี่คือเปลือกที่สร้างขึ้นอวดนักเดินทางต่างหาก ว่าแล้วจึงมุ่งหน้าไปย่านกลางเมืองโจฮันเนสเบิร์ก นั่งรถไฟใต้ดินไปสุดระยะที่ สถานี Park  รอบๆ นั้นเป็นอาคารบ้านเรือน ตลาด พิพิธภัณฑ์ และสถานที่สำคัญของเมืองอย่างศาลาว่าการประจำเมือง               อยู่ย่านแซนด์ตัน อาจจะเห็นพวกคนผิวขาวเยอะ แต่ละแวกนี้ เต็มไปด้วยคนผิวสีที่เดินกันเกลื่อนถนนไปหมด               เห็นตลาดแทรกตัวอยู่กลางเมือง ฉันเลยเดินเถลไถลเข้าไป เลยได้ชิมสีสันแบบแอฟริกาอย่างเต็มอิ่ม               สำรวจตลาดพักเดียวก็ทำให้รู้ว่าของหายากในเมืองนี้คืออะไร อันดับแรกคือเสื้อผ้าไซส์เอสของผู้หญิง เพราะคนที่นี่ 90% ไซส์บิ๊กกันทั้งนั้น แต่ละคนที่เดินสวนไปมาถึงเป็นหญิงร่างใหญ่ที่แบกน้ำหนักตัวสูงๆ เอาไว้ แลพวกเธอล้วนแต่ห่อห่มไว้ด้วยอาภรณ์สีเจ็บๆ               ของหายากอีกอย่างหนึ่งจึงเป็นเสื้อผ้าสีพื้นๆ ประเภทขาวดำหรือเทาน้ำเงิน จะมีค่อนข้างน้อย                พวกสินค้าไวท์เทนนิ่งอาจจะบุกตลาดในเอเชียได้แบบฉลุย แต่สำหรับแถบนี้ ดูเหมือนสินค้าแขนงนี้คงไม่ได้ผล และผู้คนแถวนี้ก็ดูเหมือนไม่แยแสกับความดำหรือขาวซะด้วยสิ  พวกเขายังคงใช้ชีวิตอยู่กับแสงแดดอย่างคุ้นเคยกันดี               ซอกแซกไปหลายมุมแล้วจึงพบว่า บางมุมของโจฮันเนสเบิร์กอาจจะแฝงเร้นไว้ด้วยความน่ากลัวอย่างที่หลายคนว่าไว้               แต่หากเปิดใจให้กว้างเข้าไปทำความรู้จักกับเมืองนี้  ก็จะพบว่า รอยยิ้มไม่ใช่ของหายาก และโจฮันเนสเบิร์กไม่ใช่ชุมโจรอย่างที่เลื่องลือกัน               หากทำตัวเป็นนักเดินทางที่กลมกลืนไปกับคนท้องถิ่น ไม่แบกความหรูหราไปเดินกรีดกรายบนท้องถนน รับรองว่าคุณจะเดินจากโจฮันเนสเบิร์กมาด้วยรอยยิ้ม  ไม่ต่างจากตอนบอกลาเคปทาวน์                  ............................................ (รู้จัก'โจเบิร์ก' : คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า  : โดย...กาญจนา หงษ์ทอง)                                                              

No comments:

Post a Comment

Blog Archive