Sunday, February 10, 2013

บุญช้างมโหฬาร ปอยจักรยานมิตรภาพ

บุญช้างมโหฬาร ปอยจักรยานมิตรภาพ
              ภาพช้างถูกขวานจามกะโหลกเพื่อเอางาไปขาย ชนิดที่ยังเห็นเลือดแดงฉานชุ่มโชก หาดูได้ในเครือข่ายออนไลน์เฟซบุ๊กยามนี้ ช่างเป็นภาพสะท้อน...ที่สุดของที่สุดความอำมหิตในจิตใจมนุษย์ ชวนให้สลดหดหู่ใจยิ่งนัก จนเกือบจะรู้สึกว่า “กุมภาพันธ์” ปีนี้ ช่างเป็นเดือนแห่งความรักที่โหดร้ายเสียนี่กระไร ยังดีที่หัวใจได้รับการปลอบโยน เมื่อได้เห็นภาพข่าวงานบุญที่น่ารักงานหนึ่ง                  “มะหะกำบุนซ้าง แขวงไซยะบูลี 2013 ซ้างกับวิถีซีวิต” วันที่ 15-19 กุมภาพันธ์นี้ ที่เมืองไซยะบูลี แขวงไซยะบูลี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลาว ส่วนที่ติดกับน่าน อุตรดิตถ์ และเลยของไทย จึงมีเส้นทางเชื่อมต่อแดนไทย-ลาวหลายจุด แต่ที่นิยมไป-มากันมากจุดหนึ่งคือ สะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำเหือง ตรงกับอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เส้นทางนี้ยังสามารถเชื่อมต่อไปถึงเมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง” ด้วยระยะทางราว 360 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งในโครงข่ายโลจิสติกของ “ประชาคมอาเซียน” ในอนาคต                  ถือเป็นงานชุมนุมช้างที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในระดับอาเซียน กิจกรรมในงานจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญช้าง เพื่อจะบอกว่าคนรักช้าง ตระหนักถึงบุญคุณของช้างเพียงใด และยังเป็นงานชุมชนชนเผ่าอันหลากหลาย เช่น ไทลื้อ ไทดำ ไท-ยวน ขมุ คะฉิ่น ฯลฯ แม้จะเป็นงานที่เพิ่งจัดขึ้นใหม่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความหมายมาก เพราะไซยะบูลีเป็นแขวงที่มีการทำไม้ซุงมากที่สุด จึงมีช้างงานจำนวนมากที่สุดในลาว และเป็นคำตอบว่าเหตุใด ดินแดนลาวจึงถูกเรียกขาน “อาณาจักรล้านซ้าง” (ล้านช้าง) มาแต่โบราณกาล นอกจากนั้น ไซยะบูลียังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น ลิกไนต์ ทองคำ ทองแดง แมงกานีส ฯลฯ                 ชาวลาวยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับวัด จึงมักเรียกงานที่มีคนมาชุมนุมกันมากๆ ว่า “งานบุญ” อย่างงานในระดับที่ภาษาอังกฤษเรียก “Festival” ภาษาไทยเรียก “งานเทศกาล” หรือมหกรรม                 ลาวจะใช้คำว่า“บุนมะโหลาน” (บุญมโหฬาร) อาทิ บุนมะโหลานฮูปเงาหลวงพระบาง หมายถึง Laungprabang Films Festival หรือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลวงพระบาง ดังนั้น งานมะหะกำบุนซ้างครั้งนี้ ถือว่าเป็น “บุนซ้างมะโหลาน” ได้สบายๆ ท่านที่สนใจจะไปร่วมงาน ถือพาสปอร์ตไปอย่างเดียว ไม่ต้องขอวีซ่าให้เสียเวลา เพราะไทยกับลาวเป็นภาคีสมาชิกอาเซียนเหมือนกัน ยกเว้นพม่าประเทศเดียว ที่ปัจจุบันยังต้องขอวีซ่า                 “บุนซ้างมะโหลาน” สะท้อนว่านิยามความรักของนักบุญวาเลน ไทน์ มิได้จำกัดวงเพียงความรักของคนหนุ่มสาวเท่านั้น ความรักระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ อย่างคนกับช้าง รวมถึงความรักระหว่างเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ก็ยิ่งสำคัญเป็นทวีคูณ ในยุคที่ชาวอาเซียนทั้ง 10 ชาติ กำลังจะหลอมรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “ประชาคมอาเซียน”                 วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ มหกรรมปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า จากอำเภอแม่สอด ข้ามสะพานมิตรภาพเหนือลำน้ำเมยสู่เมืองเมียวดี จะเวียนมาถึงอีกครั้งเหมือนเป็นงานบุญประจำปี ที่ชาวเหนือเรียก “งานปอย” ซึ่งนับเป็นปีที่ 14 แล้ว ที่หอการค้าจังหวัดตาก ริเริ่มจัดงานนี้ขึ้น ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีใครรู้จักคำว่า “ประชาคมอาเซียน”                 จากจุดเริ่มต้นที่มีคนปั่นจักรยานมาร่วมงานหลักร้อย จนถึงวันนี้ มีกองทัพจักรยานนับพันคันจากฝั่งไทย ปั่นข้ามสะพานและข้ามเขตแดนไป โดยมีชาวพม่าเมืองเมียวดีขี่จักรยานนับ 500 คัน มาให้การต้อนรับ แล้วหยิบยื่นไมตรีให้แก่กันเป็นขนม ผลไม้ น้ำเย็น และการเต้นระบำรำฟ้อน พอหายเหนื่อยก็จูงมือกันไปไหว้พระ ทำบุญที่วัด ตกเย็นก็ร่ำลาอาลัยกัน ปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยมาสนุกกันอีก เพราะเขตแดนมันกั้นได้แต่กาย ทว่าหัวใจยากจะมีสิ่งใดขวางกั้น                                                          ผมยกย่องมานาน ว่านี่คือการทูตภาคประชาชนครั้งสำคัญของสองประเทศที่เคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลร่วมกันมายาวนาน บัดนี้ จับมือกันสร้างตำนานใหม่ ด้วยจำนวนจักรยานที่อาจทำสถิติให้ “กินเนสส์ บุ๊ก” ต้องบันทึกไว้ว่า เป็นขบวนรถสองล้อของชาวบ้านธรรมดาๆ ทว่าขี่ข้ามประเทศที่มีจำนวนมากติดอันดับโลก และที่สำคัญคือเป็นกิจกรรมทันสมัยสุดๆ ในยุคประหยัดพลังงาน และการรณรงค์ลดโลกร้อน                 ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ในวาระฉลอง 15 ปีแห่งการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ชาวแม่สอดกับเมียวดีก็ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง ด้วยการนิมนต์พระ 99 รูปจากฝั่งแม่สอด และ 99 รูปจากฝั่งเมียวดี มาร่วมรับบิณฑบาตจากชาวไทยและพม่าร่วมกันบนสะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำเมย เป็นภาพแห่งความทรงจำอันงดงามที่สุด                 ราวกับจะประกาศให้โลกรับรู้ว่า สงครามและการสู้รบกันในอดีตมันปิดฉากไปนานนับร้อยๆ ปีแล้ว แต่สิ่งที่ยังดำรงคงอยู่ในจิตวิญญาณของคนสองฟากฝั่ง คือศรัทธาในศาสนา และการทำบุญสุนทาน ถือเป็น “วัฒนธรรมร่วม” อันน่าภาคภูมิใจร่วมกัน สอดคล้องกับปรัชญา “ประชาคมอาเซียน” ที่ส่งเสริมการเคารพในอัตลักษณ์เฉพาะตน และความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ร่วม ไม่ใช่มุ่งจะแข่งขันกัน เอารัดเอาเปรียบกัน                 ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ คนไทยส่วนใหญ่กำลังจับไข้ AEC เข้าใจผิดคิดว่า AEC คือประชาคมอาเซียน และยังเข้าใจว่าการเตรียมพร้อมสู่ AEC คือการเตรียมตัวเข้าสู่สนามแข่งขันทางการค้า หรือการทำอย่างไรให้เราเสียเปรียบน้อยสุด ได้เปรียบมากสุด ทั้งๆ ที่ AEC ย่อมาจาก ASEAN Economic Community แปลว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เป็นเพียง 1 ใน 3 เสาหลัก ที่ค้ำจุน “ประชาคมอาเซียน” (ตัวย่อ AC = ASEAN Community) ซึ่งยังมีอีก 2 เสาหลักคือ APSC = ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community) และ ASCC = ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community)                    ขอบคุณและปรบมือดังๆ ให้หอการค้าจังหวัดตาก และชาวจังหวัดตาก ที่ทำเป็นแบบอย่างให้คนไทยตระหนักว่า “ประชาคมอาเซียน” ที่กำลังจะเกิด ไม่ได้มีแต่การแข่งขันทางการค้า หากยังมีการดูแลเอาใจใส่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแบ่งปันกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และพร้อมจะก้าวไปสร้างความไพบูลย์ร่วมกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง ที่ชาวอาเซียนทุกคนใฝ่ฝันหา   ............................................. (บุญช้างมโหฬาร ปอยจักรยานมิตรภาพ : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...เรื่อง // ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล)                 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive