Wednesday, November 7, 2012

'ชาวไวกิ้ง'พบชนพื้นเมือง'อเมริกัน'..!

'ชาวไวกิ้ง'พบชนพื้นเมือง'อเมริกัน'..!
Pic_304137 สัปดาห์นี้สารคดีไทยรัฐออนไลน์พาไปพบกับชนพื้นเมือง'อเมริกัน'ที่เราเรียกเขาว่า 'ชาวไวกิ้ง'..!
เส้น ใยแปลกๆ เหล่านี้มีอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าพวก แพทริเชีย ซัทเทอร์แลนด์ มองออกในทันที เส้นใยเหล่านี้นุ่มมากเมื่อสัมผัส ผิดไปจากเชือกที่พบทั่วไปในท้องถิ่นแถบนี้เส้นใยจากเชือกเหล่านี้มาจากชุมชน ร้างทางเหนือสุดของเกาะแบฟฟินในแคนาดา เมื่อ 700 ปีก่อน นักล่าสัตว์ ชาวพื้นเมืองที่นี่ใช้ตะเกียงน้ำมันแมวน้ำเพื่อให้ความอบอุ่น ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 หมอสอนศาสนานิกายโรมันคาทอลิกผู้หนึ่งเคยฉงนฉงายกับเส้นใยอ่อนนุ่มเหล่านี้ มาแล้วเช่นกัน หลังจากขุดค้นที่ซากปรักแหล่งเดียวกันนี้ เชือกนั้นทำจากขนสั้นๆ ที่ได้จากหนังกระต่ายป่าอาร์กติก ต่างจากเส้นเอ็นที่พรานพื้นเมืองแถบอาร์กติกนำมาฟั่นเป็นเชือก แล้วมันมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร บาทหลวงผู้นั้นไม่อาจหาคำตอบได้ จึงส่งเส้นใยดังกล่าวพร้อมข้าวของอื่นๆ ที่ขุดพบไปยังพิพิธภัณฑ์อารยธรรมแห่งแคนาดา (Canadian Museum of Civilization) เมืองกาติโน รัฐควิเบก

และ แล้ววันหนึ่งเมื่อปี 1999  ซัทเทอร์แลนด์ซึ่งเป็นนักโบราณคดีอาร์กติกที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้สอดเส้นใยเข้าใต้กล้องจุลทรรศน์ และพบว่าด้ายนุ่มๆ เหล่านี้เกิดจากการปั่นขนสั้นๆ เข้าด้วยกัน แต่ผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์บนเกาะแบฟฟินไม่ใช่คนปั่นด้ายหรือช่างทอผ้า พวกเขาตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มจากหนังและขนสัตว์ แล้วเส้นด้ายเหล่านี้มาจากไหนกันเล่า ซัทเทอร์แลนด์จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า หลายปีก่อนหน้านี้ระหว่างที่ช่วยขุดสำรวจบ้านไร่แห่งหนึ่งของพวกไวกิ้งใน กรีนแลนด์ เธอเห็นเพื่อนร่วมงานขุดเศษเส้นด้ายคล้ายกันนี้ขึ้นมาจากพื้นห้องทอผ้า เธอจึงรีบโทรศัพท์ไปหานักโบราณคดีคนหนึ่งในเดนมาร์ก หลายสัปดาห์ต่อมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอไวกิ้งแจ้งกลับมาว่าเส้นใยจากแคนาดา เหมือนเส้นด้ายที่ปั่นโดยหญิงชาวนอร์สในกรีนแลนด์ไม่มีผิด
“ฉันประหลาดใจและตื่นเต้นมากค่ะ” ซัทเทอร์แลนด์เล่า

นัก เดินเรือชาวไวกิ้งคือสุดยอดนักสำรวจแห่งยุโรปสมัยกลาง พวกเขาต่อเรือไม้ลำใหญ่โตและแล่นเรือจากแผ่นดินเกิดในสแกนดิเนเวียด้วยความ กระหายที่จะเสาะหาดินแดน ทองคำ และทรัพย์สมบัติ บางกลุ่มมุ่งไปทางตะวันตกสู่ดินแดนที่ปัจจุบันคือสกอตแลนด์ อังกฤษ และไอร์แลนด์ในศตวรรษที่แปด ขณะที่อีกหลายกลุ่มหันไปยึดอาชีพพ่อค้าวาณิชในต่างแดน ตอนต้นศตวรรษที่เก้า พ่อค้าชาวไวกิ้งแล่นเรือรุกคืบไปทางตะวันออก สร้างเมืองขึ้นหลายเมืองตามเส้นทางการค้าหลักๆ ในยูเรเชีย และซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าราคาแพงระยับจากดินแดนโลกเก่า เช่น เครื่องแก้วจากหุบเขาแม่น้ำไรน์ เครื่องเงินจากตะวันออกกลาง เปลือกหอยจากทะเลแดง และผ้าไหมจากจีน
พวกที่ชอบเสี่ยงภัยที่สุดเบน เข็มมุ่งหน้าไปทางตะวันตกไกลโพ้น เข้าสู่น่านน้ำหฤโหดที่ปกคลุมด้วยม่านหมอกชั่วนาตาปีของมหาสมุทรแอตแลนติก ตอนเหนือ ชาวอาณานิคมไวกิ้งสร้างชุมชนเกษตรกรรมขึ้นที่ไอซ์แลนด์และกรีนแลนด์ เก็บสะสมข้าวของล้ำค่าแถบอาร์กติกไว้ในโรงเก็บของเพื่อนำไปขายที่ตลาดยุโรป  ตั้งแต่งาวอลรัส ไปจนถึงงาบิดเกลียวของนาร์วาฬที่อวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นเขายูนิคอร์น หัวหน้าเผ่าไวกิ้งบางคนบุกขึ้นไปทางตะวันตกไกลยิ่งขึ้น โดยแล่นเรือฝ่าน่านน้ำที่ระเกะระกะไปด้วยภูเขาน้ำแข็งสู่ทวีปอเมริกา
ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ค.ศ. 989 ถึง 1020  นักเดินเรือชาวไวกิ้งทั้งชายหญิงซึ่งอาจมากถึง 90 คน ขึ้นฝั่งที่เกาะนิวฟันด์แลนด์ พวกเขาสร้างโรงเรือนที่แข็งแรงขึ้นสามโรง และกระท่อมหญ้า (sod hut) อีกหลายหลังสำหรับใช้ทอผ้า ทำงานโลหะ และซ่อมแซมเรือ ในทศวรรษ 1960 เฮลเก อิงสตัด นักผจญภัยชาวนอร์เวย์ กับแอน สไตน์ อิงสตัด ภรรยา นักโบราณคดี ค้นพบและขุดค้นซากปรักของค่ายโบราณแห่งนี้ในบริเวณที่เรียกว่า ลองโซเมโดวส์ (L’Anse aux Meadows)

ต่อ มา นักโบราณคดีชาวแคนาดาพบหมุดโลหะของเรือและโบราณวัตถุอื่นๆ จากสิ่งที่น่าจะเป็นซากเรือไวกิ้งที่พบนอกชายฝั่งเกาะเอลส์เมียร์ ทว่าในปีต่อๆ มา ร่องรอยวีรกรรมการสำรวจโลกใหม่อันเลื่องลือของชาวไวกิ้งกลับปรากฏ ให้เห็นน้อยมาก จนกระทั่งแพทริเชีย ซัทเทอร์แลนด์ เริ่มเข้ามาศึกษา
ท่าม กลางแสงอาทิตย์อ่อนๆ ยามเช้าบนเกาะแบฟฟินของแคนาดา ซัทเทอร์แลนด์กับทีมงานภาคสนามเดินลัดเลาะไปตามทางเดินที่มีก้อนหินระเกะ ระกะลงสู่บริเวณแอ่งที่เรียกกันว่าหุบเขาแทนฟีลด์ ซึ่งทอดตัวไปตามชายฝั่งขรุขระที่นักเดินเรือชาวไวกิ้งเคยเรียกว่า เฮลลูลันด์ (Helluland) หรือ “ดินแดนแห่งแผ่นหิน” เนิ่นนานก่อนหน้าที่พวกไวกิ้งจะมาถึงคนพื้นเมืองโบราณในแถบนี้สร้างชุมชน ขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ นานูก (Nanook)
เมื่อปี 1999 การค้นพบเส้นด้ายนำซัทเทอร์แลนด์กลับไปยังห้องเก็บของที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรม แห่งแคนาดา และเริ่มศึกษาโบราณวัตถุที่นักโบราณคดีอื่นๆ ขุดพบในแหล่งอาศัยของชนล่าสัตว์โบราณแถบอาร์กติก ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่าพวกดอร์เซต (Dorset) คนเหล่านี้กระจายอยู่ตามชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอาร์กติกเป็นเวลาเกือบ 2,000 ปี กระทั่งสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยในปลายศตวรรษที่สิบสี่  การตรวจสอบโบราณวัตถุนับร้อยๆ ชิ้นที่เชื่อว่าน่าจะเป็นของพวกดอร์เซต ทำให้ซัทเทอร์แลนด์ค้นพบหลักฐานที่เป็นเส้นด้ายจากการปั่นอีกหลายชิ้น ซึ่งได้มาจากแหล่งสำคัญๆ 4 แหล่งที่กระจายอยู่ตามชายฝั่งยาว 2,000 กิโลเมตร จากทางเหนือของเกาะแบฟฟินจรดทางเหนือของเกาะแลบราดอร์ ได้แก่ นุงกูวิก หุบเขาแทนฟีลด์ เกาะวิลโลว์ส และหมู่เกาะอาวายาลิก
ยิ่งซัทเทอร์แลนด์ ศึกษาโบราณวัตถุดอร์เซตในคอลเลกชันเก่าๆ อย่างละเอียดเท่าใด เธอก็ยิ่งพบหลักฐานที่แสดงว่าพวกไวกิ้งเคยมาถึงชายฝั่งแถบนี้มากขึ้นเท่า นั้น ขณะศึกษาเครื่องมือหิน เธอพบหินลับมีดแบบดั้งเดิมที่พวกนอร์สใช้เกือบ 30 ชิ้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตัวชาวไวกิ้งทั้งชายหญิง อีกทั้งพบรูปสลักของชาวดอร์เซตหลายชิ้นที่ดูเหมือนใบหน้าชาวยุโรป นั่นคือมีจมูกยาว โหนกคิ้วเด่น และมีร่องรอยที่อาจเป็นเครา โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักซึ่งบ่งบอกถึงการติดต่อฉันมิตร ระหว่างนักล่าสัตว์ชาวดอร์เซตกับนักเดินเรือชาวไวกิ้ง

นัก เดินเรือชาวไวกิ้งที่ออกสำรวจชายฝั่งอเมริกาเหนือเมื่อพันปีก่อนคงต้องการ เสาะหาคู่ค้า ที่นิวฟันด์แลนด์หรือดินแดนที่พวกเขาเรียกว่าวินแลนด์ (Vinland) ชาวไวกิ้งพบการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตร ชาวพื้นเมืองที่นั่นมีอาวุธพร้อมมือและมองคนต่างถิ่นว่าเป็นผู้บุกรุก แต่ที่เฮลลูลันด์ นักล่าสัตว์ชาวดอร์เซตเร่ร่อนกลุ่มเล็กๆ อาจมองเห็นช่องทางทำกิน จึงเลี้ยงดูปูเสื่อพวกไวกิ้งเป็นอย่างดี ชาวดอร์เซตมีอาวุธน้อย แต่มากฝีมือในเรื่องการล่าวอลรัสและวางกับดักสัตว์ที่มีขนปุกปุย ขนอ่อนนุ่มเหล่านี้สามารถนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายสวยงามมีราคา นอกจากนี้ นักวิจัยบางคนยังคิดว่าพวกดอร์เซตชอบเรื่องค้าขาย และรู้จักแลกเปลี่ยนสินค้ากับทองแดงและสินค้าหายากอื่นๆ กับชนพื้นเมืองที่อยู่ใกล้เคียงมาหลายร้อยปีแล้ว  “พวกเขาอาจเป็นนักธุรกิจตัวจริงของทวีปอาร์กติกก็ได้นะคะ” ซัทเทอร์แลนด์ว่า
เมื่อ ไม่ต้องกลัวชนพื้นเมืองแล้ว นักเดินเรือชาวไวกิ้งจึงสร้างค่ายพักตามฤดูกาลขึ้นในหุบเขาแทนฟีลด์ อาจเพื่อการล่าสัตว์และการค้าด้วย พื้นที่แถบนี้มีสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกชุกชุม และคนต่างถิ่น (อย่างชาวไวกิ้ง) ก็คงมีสินค้าที่นักล่าสัตว์ชาวดอร์เซตต้องการมากอยู่สองอย่าง และพวกเขาสามารถนำขนสุนัขจิ้งจอกมาแลกเปลี่ยนได้ นั่นคือชิ้นไม้เหลือๆ ที่พอจะนำมาแกะสลัก กับโลหะชิ้นเล็กๆ ที่นำมาลับทำใบมีดได้ หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า ชาวดอร์เซตบางครอบครัวอาจตระเตรียมขนสัตว์ขณะพักแรมอยู่ในค่าย ห่างจากสถานีการค้าของพวกไวกิ้งไปไม่ไกล

No comments:

Post a Comment

Blog Archive