Thursday, November 22, 2012

“หมอเมืองผู้ดี-ดร.หญิงไนจีเรีย” คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555

“หมอเมืองผู้ดี-ดร.หญิงไนจีเรีย” คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2555 เวลา 15:42 น.
เมื่อเวลา 14.00  น. วันนี้ ( 22 พ.ย.) ที่ตึกสยามินทร์ รพ.ศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้า ฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ครั้งที่ 21  ประจำปี  2555   ว่า  รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 ม.ค. 2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวล มนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  1 แสนเหรียญสหรัฐ

นาย มนัสวี ศรีโสดาพล อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   กล่าวว่า  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 ทั้งสิ้น  75 ราย  จาก  34  ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2555, 2554, 2553 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่  9 พ.ย.ที่ผ่านมา และมีมติตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์  ได้แก่  เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์  จากสหราชอาณาจักร  สาขาการสาธารณสุข  ได้แก่  ดร.อูเช  เวโรนิกา  อะมาซิโก  จากประเทศไนจีเรีย    ทั้งนี้พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  จะจัดขึ้นในปลายเดือน ม.ค.  พ.ศ. 2556  ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  
ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     กล่าวว่า เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ จากสหราชอาณาจักร     สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเซนต์โทมัส  มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์    (ไนซ์) ศาสตราจารย์กิติมศักดิ์  วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน และนายกราชแพทยสมาคมแห่งประเทศอังกฤษ เป็นทั้งผู้นำแนวคิดและผู้ปฏิบัติในการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อมูล ทางการแพทย์  ที่สามารถตรวจสอบได้มาประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของยา เครื่องมือต่างๆ  และวิธีการรักษา  รวมทั้งได้กำหนดคู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้ รับสูงสุดและความคุ้มค่าของงบประมาณ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือ ไนซ์   ขึ้นในปี พ.ศ.2542  เพื่อดำเนินงานตามแนวคิดดังกล่าว ประเมินผลอย่างเป็นระบบ  ทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต   รวมทั้งครอบคลุมผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม  คู่มือและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย  สามารถใช้ในการตัดสินจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการรักษาและป้องกันโรคได้ อย่างเหมาะสม  มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

 ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานของเซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์    ก่อให้เกิดการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี  มาตรฐานคุณภาพอย่างดีเลิศ เหมาะสม และคุ้มค่าทั่วทั้งสหราชอาณาจักร  และมีการนำไปเผยแพร่เป็นแม่แบบ และประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย คือ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (ไฮแทป) ผลงานของเซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์    มิใช่การรักษาผู้ป่วยแต่เป็นวิธีคิดให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด อย่างกรณีของไฮแทปที่ช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ประเมินสิทธิประโยชน์ในหลายเรื่อง แต่ก็มีหลายเรื่องก็ไม่ผ่านการอนุมัติเช่นกัน

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า  ส่วน ดร. อูเช   เวโรนิกา  อะมาซิโก  จากไนจีเรีย อดีต ผอ.โครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟริกา  องค์การอนามัยโลก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านชีววิทยาและปรสิตวิทยาทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย  ได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านโรคเขตร้อน จากสถาบันแบร์นฮาร์ด ( Bernhard-Nocht Institute of Tropical Medicine) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี   และการสาธารณสุขระหว่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา  เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พัฒนาชุมชนกว่า  5 แสนชุมชนใน  19 ประเทศ  ของทวีปอัฟริกา  ให้มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการสาธารณสุข โดยระหว่างดำรงตำแหน่ง ผอ.โครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปอัฟริกา  ระหว่างปี พ.ศ.2548-2554  ได้พัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนที่สามารถกำหนดการรักษา โดยการกระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิแก่คนในชุมชน โดยอาสาสมัครในชุมชน ในเวลาที่เหมาะสม  ก่อให้เกิดผลสำเร็จในการควบคุมโรคอย่างชัดเจน และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์  อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพในชุมชน  ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงอย่างมากและเกือบหมดไป  ประมาณการว่าภายในปี พ.ศ.2558 ประชากรกว่า 90 ล้านคนต่อปี จะได้รับยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิอย่างสม่ำเสมอ และสามารถป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิได้ปีละกว่า  40,000 ราย ความสำเร็จเหล่านี้  เกิดจากการเชื่อมโยงงานวิจัยและระบบการบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นบทบาทของ ชุมชนเป็นสำคัญ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ก่อนที่ สปสช.จะให้สิทธิประโยชน์กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีการประเมินความคุ้มค่าโดยไฮแทปที่มาช่วยดูและพิจารณาให้รอบด้าน คล้ายกับแนวคิดของ เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์. 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive