
ตอนที่สองกับการเยื่ยมชมวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่รวบรวมตัวแข่งสุดโหดของ Toyota ในแผนกมอเตอร์สปอร์ต สานต่อการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งของ Toyota Motor Sport GmbH ณ เมือง Koln ประเทศเยอรมนี...เทคโนโลยี พลังงานผสม Hybrid ในรถแข่ง TS030 จะทำให้การพัฒนาระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเสริมแรงในรถบ้านของ Toyota ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น พลังงานผสมระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้านำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ของการขับเคลื่อน ขนาดที่เล็กลงของระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเสริมแรงแบบ Hybrid จะถูกนำมาวิจัยสานต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและนำกลับมาใช้กับรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ล้วนๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์อีกต่อไปออกจากโรงเก็บรถแข่ง TS030 Hybrid เจ้าหน้าที่สาวชาวอังกฤษของ Toyota Motor Sport GmbH พาคณะสื่อมวลชนไทยเดินมาทางอาคารส่วนหลังของแผนกมอเตอร์สปอร์ต กลุ่มโรงเก็บซึ่งคล้ายกับโกดังขนาดยักษ์ที่ใช้เก็บอากาศยานหลังนี้ ถูกใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ของ Toyota สำหรับการเก็บประวัติศาสตร์ของการแข่งขันรถยนต์ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น รถแข่งแรลลี่ รถแข่งเอฟวันและรถแข่งเลอมังค์ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับค่ายสามห่วงถูกเก็บรวบรวมแล้วตั้งแสดงอยู่ภายในอาคารหลังนี้แทบทั้งหมด เท่าที่กวาดสายตาไปรอบๆ โรงเก็บก็พบกับรถแข่งแรลลี่ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ทีม Toyota Motor Sport ส่งลงทำการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลก นับเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของวงการแข่งรถที่หาชมได้ยากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลกยนตรกรรมToyota Celica TA64 Twin Cam Turbo group B (1983)ผมเดินผ่านตัวแข่งทางฝุ่นในยุค 80 ของค่ายสามห่วง รถเซลิก้าที่ใช้ในการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลก Group B คันนี้ วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ รหัส 4T-TGE ปริมาตรความจุ 2090 ซีซี อัดอากาศผ่านเทอร์โบของ KKK/K27 turbocharger มีเรี่ยวแรงมากถึง 370 แรงม้า กับแรงบิด 35.0 กิโลกรัมเมตร ระบบส่งกำลังวางเกียร์ 5 speed hewland gearbox ซึ่งออกแบบสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ ตัวถังทรงกล่อง สีขาวขุ่นบนเรือนร่างแบบรถลุยตัวแรง นี่คืออสุรกาย Group B ที่ทั้งแรงและทรงพลัง ยุคสมัยที่เทอร์โบเป็นใหญ่ รถแข่งเหล่านี้แหกโค้งเข้าไปชนคนดูจนถูกยกเลิกไปในที่สุด ช่วงปี 1983-1986 Celica TA64 Twin Cam Turbo group B คว้าชัยชนะในการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลกได้อย่างเหนือความคาดหมาย จากสมรรถนะที่ดีและสุดยอดนักขับฝีมือเยี่ยมชาวยุโรป Björn Waldegård / Juha Kankkunen / Per EklundToyota Celica ST185 4WD Turbo group A (1992)ข้างๆ กับเจ้าอสูรสีขาวมีรถแรลลี่ของค่ายสามห่วงจอดสงบนิ่งอยู่อีกเพียบ ปี 1992 แผนกมอเตอร์สปอร์ตของ Toyota ส่งถ่ายสายพันธ์ุแห่งความแรงบนทางฝุ่นด้วย Celica ST185 4WD รุ่นไฟ pop-up ตัวแข่งจอมโหดที่กวาดชัยชนะไปทั่วโลก รถ Celica ST185 4WD Turbo group A (1992) วางเครื่องยนต์แห่งตำนาน มันใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ รหัส 3S-GTE สุดแรง พร้อมกลไกขับเคลื่อน 4 ล้อ เครื่องยนต์มีความจุรวม 1,998 ซีซี 16 วาวล์ 4 สูบเบนซิน กระบอกสูบคูณช่วงชักมีตัวเลขที่สมมาตร 86.0 mm x 86.0 mm อัดอากาศด้วยเทอร์โบ Toyota CT26 turbocharger ขนาดโข่ง 38 มิลลิเมตร ลดอุณหภูมิของอากาศก่อนประจุเข้าสู่ท่อร่วมไอดีด้วย Intercooler ระบบจ่ายเชื้อเพลิงรุ่นก้าวหน้า (ในยุค 90) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ Bosch L-jetronic แบบ Multi-point ให้กำลังสุงสุด 300 แรงม้า กับแรงบิดระดับทะลุมิติที่ 46.7 กิโลกรัมเมตร บนน้ำหนักตัว 1.1 ตัน ช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลังใช้รูปแบบ Macpherson super strut กับ lower control arm พร้อม coil springs แบบ telescopic ส่วนโช้คอัพเป็นแบบ gas shock absorbers และ anti-roll bar นับเป็นรถแข่งอีกรุ่นที่สร้างประวัติศาสตร์ไว้อย่างมากมายจากประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมของมัน นักขับชื่อดังที่เคยควบรถรุ่นนี้เข้าเส้นชัยในอันดับที่หนึ่งมีทั้ง Carlos Sainz / Markku Alén / Armin Schwarz / Mikael Ericsson / Marcus Grönholm ซึ่งเป็นมือขับระดับพระกาฬในวงการแข่งรถแทบทั้งสิ้นToyota Corolla WRC 1997มุมห้องที่เงียบสงบมีตัวแข่งทางฝุ่นระดับหัวกระทิของวงการแรลลี่โลกในช่วงปลายยุค 90 จอดอยู่ท่ามกลางรถแข่งที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับ Toyota เจ้าตากลมตัวเล็กคันนี้คือรถแข่ง Corolla WRC ปี 1997 คันนี้จอดโชว์ตัวอยู่บริเวณมุมห้องรายล้อมด้วยรถแข่ง Le Mans กับกลิ่นอับของเหล็ก ยางและน้ำมันเครื่อง ในยุคสมัยที่ Toyota ยังคงเป็นเจ้าแห่งกีฬามอเตอร์สปอร์ต รถแข่งหลากหลายสายพันธ์ุผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันคว้าชัยชนะอันน่าจดจำ ประวัติศาสตร์บนโลกความเร็วถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่ชื่นชอบกีฬา ท้าความเร็ว เจ้า Toyota Corolla WRC รวมถึงพรรคพวกของมันทุกคันในโรงเก็บแห่งนี้จะถูกนำไปวิ่งรักษาสภาพเพื่อไม่ให้มันเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา รถแข่งเหล่านี้มีเครื่องยนต์ ช่วงล่างและระบบต่างที่พร้อมสำหรับการวิ่ง การดูแลให้มันทุกคันอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ผมเดินเข้าไปใกล้กับ Corolla WRC เพื่อบันทึกภาพ รถแข่งแรลลี่คันนี้ วางเครื่องยนต์รหัส 3S-GTE เป็นเครื่องเบนซินแบบ 4 สูบ 16 วาวล์ ปริมาตรความจุ 1972 ซีซี รถแฮทช์แบคแรลลี่คันนี้มีเรี่ยวแรง 299 แรงม้า กับแรงบิด 510 นิวตันเมตร ระบบส่งกำลังวางเกียร์ 6 สปีด X-Trac sequential gear box ช่วงล่าง McPherson struts ใช้สปริง progressive ของ Öhlins แบบ telescopic กับเหล็กกันโคลงที่มีขนาดโตกว่ารถบ้าน การพัฒนาตัวรถเริ่มต้นขึ้นในปี 1996 และเปิดตัวในการแข่งขันแรลลี่ที่อินโดนีเซียในปี 1997 หลังจากนั้น Marcus Grönholm ควบ Corolla WRC คว้าอันดับที่สามในออสเตรเลีย ต่อมาในช่วงเปิดฤดูกาลประจำปี 1998 ในสนาม Monte Carlo Rally นักขับชาวบราซิเลียน Carlos Sain คว้าชัยชนะครั้งสำคัญเหนือรถแข่งแรลลี่สมรรถนะสูงจากยุโรป เป็นการประกาศศักดาประสิทธิภาพของตัวรถ นักขับและทีมแข่งตลอดจนแผนกมอเตอร์สปอร์ตของค่ายสามห่วงได้เป็นอย่างดี ปี 1998 คือปีสุดท้ายของ TMG สำหรับการส่งรถลงแข่งแรลลี่ชิงแชมป์โลก และจะกลับมาเริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้งกับรถ Yaris WRC ในปี 2014Toyota TF102 (2002)Toyota TF103 (2003)Toyota TF104 (2004)โรงเก็บรถแข่งหรือพิพิธภัณฑ์ของ TMG คือสถานที่เก็บประวัติศาสตร์ซึ่งมีทั้งยุครุ่งเรืองและขมขื่น มุมด้านขวาของห้องจัดแสดงเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าติดตามของรถแข่ง F1 ในตระกูล TF จอดเรียงรายนับสิบคัน ไล่เรียงมาตั้งแต่รถ TF 102 ไปจนถึง TF 109 ตู้ตั้งแสดงถ้วยรางวัลชนะเลิศในรายการต่างๆ เครื่องยนต์ แผงวงจรระบบไฟฟ้าของรถแข่ง ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Toyota Motor Sport GmbH ทำการเปิดตัวทีมแข่งรถสูตรหนึ่งในปี 2002 นักขับคู่แรกคือ Allan McNish และ Mika Salo กับรถแข่ง TF102 ซึ่งออกแบบโดย Gustav Brunner ฤดูกาลแรกของการเข้าร่วมแข่งขัน Formula 1 ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อุบัติเหตุบนสนามแข่งกับความบกพร่องของรถแข่ง Toyota F1 ในช่วงปีแรกนั้น นำมาซึ่งความผิดหวังให้กับผู้บริหารที่ต้องควักเงินจำนวนมหาศาลสำหรับการพัฒนารถแข่ง สำหรับฤดูกาล 2003 Toyota F1 Team เปลี่ยนตัวนักขับมาเป็น Cristiano da Matta และ Olivier Panis ซึ่งทำได้ดีที่สุดเพียงอันดับ 5 ที่เยอรมนี โดยมีคะแนนสะสมทั้งฤดูกาลอยู่ในอันดับที่ 8 ปี 2004 เริ่มต้นฤดูกาลไม่ค่อยดีนักกับรถแข่ง Toyota Williams F1 ในช่วงปลายฤดูกาลแข่งของปี 2004 รถ Williams F1 ของ Toyota โดนคณะกรรมการจัดการแข่งขันตรวจสอบแล้วพบว่าผิดกฎข้อบังคับของ FIA ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขันที่ Canadian Grand Prix ตามมาด้วยการลาออกของนักขับฝีมือดี Cristiano da Matta โดย Toyota Williams F1 ได้ตัว Ricardo Zonta เข้ามารับหน้าที่แทนรวมถึง Jarno Trulli นักขับชาวอิตาเลียนToyota TF105 (2005)Toyota TF106 (2006)ปี 2005 นักขับอิตาเลียน Jarno Trulli และนักขับเยอรมัน Ralf Schumacher ซึ่งมาแทน Ricardo Zonta ที่ลาออกไป ได้เข้ามากู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่ของทีมเอาไว้ได้บ้าง ชัยชนะของ Trulli ในอันดับ 2 บนสนามแข่ง Australia Grand Prix สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมขึ้นมาอีกครั้ง รถแข่ง Toyota Williams F1 TF105 ที่ขับโดย Ralf Schumacher ทำได้ดีในรอบจับเวลาและออกสตาร์ตในอันดับต้นๆ อย่างต่อเนื่องแต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่ไม่จบการแข่งขันทั้งจากอุบัติเหตุรวมถึงกลไกบางอย่างที่บกพร่อง ฤดูกาล 2005 คือความสำเร็จสูงสุดสำหรับการลงแข่งขันรถ Formula 1 ของ TMG สำหรับปี 2006 แม้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ยาง Bridgestone เป็นครั้งแรกแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ประสิทธิภาพของรถและความทนทานของเครื่องยนต์รวมถึงระบบอากาศพลศาสตร์กลาย เป็นปัญหาที่ต้องปรับแก้ไปตลอดฤดูกาล Ralf Schumacher ทำได้ดีที่สุดเพียงอันดับ 4 ที่ Australia Grand Prix ใน Monaco Grand Prix Schumacher ผู้น้องสามารถแซง Fernando Alonsos จากทีม Renault แต่เครื่องยนต์ล้มเหลวในช่วงท้ายๆ ทำให้ต้องออกจากการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดายToyota TF107 (2007)Toyota TF108 (2008)Toyota TF109 (2009)รถแข่ง F1 Toyota TF107 ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มกราคม 2007 ในโคโลญจน์ เยอรมนี กับเครื่องยนต์ Cosworth แบบ V10 700 แรงม้า เริ่มต้นฤดูกาลแข่งขันประจำปี 2007 Ralf Schumacher ทำได้เพียงอันดับ 8 ที่ Australia Grand Prix ในเมืิอง Melbourne ส่วน Jarno Trulli เข้าเส้นชัยในอันดับที่ 7 ที่ Malaysia Grand Prix และ Bahrain การไม่ประสบความสำเร็จนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงในทีมแข่ง สนาม Canadian Grand Prix กับอันดับ 8 ของ Schumacher หลังจบการแข่งขันทุกสนาม ทีม F1 ของ Toyota ทำคะแนนสะสมอยู่ในอันดับที่ 8 เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันประจำปี 2007 ซึ่งก่อนหน้านั้น ในวันที่ 1 ตุลาคม Ralf Schumacher ประกาศลาออกจากทีมหลังสิ้นสุดฤดูกาลเพื่อค้นหาความท้าทายใหม่ๆ กับรถแข่ง DTM ฤดูกาล 2008 รถแข่งคันใหม่ของทีมToyota รุ่น TF108 เปิดผ้าคลุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2008 กับนักขับคนใหม่ Timo Glock ทีม F1ของ Toyota เสร็จสิ้นฤดูกาลแข่งขันปี 2008 ด้วยคะแนน 56 แต้ม คว้าอันดับที่ 5 ในประเภททีม ปี 2009 Toyota Motor Sport GmbH แนะนำรถใหม่ TF109 ซึ่งเริ่มต้นฤดูกาลแข่งขัน Formula 1 ได้ดีมากพร้อมด้วยตำแหน่งโพลใน Bahrain จมูกด้านหน้าแบบ diffuser ช่วยเพิ่มแรงกดให้กับตัวรถและทำให้มันวิ่งได้ดีขึ้นมาก ช่วงปลายฤดูกาล 2009 Timo Glock ได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุระหว่างรอบคัดเลือกที่ญี่ปุ่น ทำให้นักขับสำรอง Kamui Kobayashi ชาวอาทิตย์อุทัยเข้ามารับหน้าที่แทนในช่วงปลายฤดูกาล ปัญหานานัปการของการปรับเปลี่ยนกฎกติกาการแข่งขันทุกๆ ปี ส่งผลกับทีมแข่งโดยตรง เม็ดเงินลงทุนที่ทุ่มลงไปอย่างมหาศาลแต่ผลที่ได้รับกลับไม่คุ้มต่อการลงทุน ทำให้ผู้บริหารของ Toyota ตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการแข่งรถสูตรหนึ่งโดยมีผลทันทีในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2009 เป็นการสิ้นสุดการแข่งขันรถยนต์สูตรหนึ่งของ Toyota Motor Sport GmbH ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2002เวลาเยี่ยมชม TMG ของสื่อมวลชนหมดลงอย่างรวดเร็ว ผมเดินเลี่ยงเพื่อนสื่อมวลชนไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ Toyota Motor Thailand มาทางห้องด้านหลังแล้วมาหยุดอยู่ตรงหน้ากลุ่มรถแข่ง Toyota GT1 Le Mans ในยุค 90 มีป้ายติดว่า กรุณาอย่าจับ แต่ไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ แถวนี้เลยแม้แต่คนเดียว ตัวแข่ง Le Mans 4 คัน มีทั้งสีขาวสลับแดงกับสีแดงแสดสันทั้งคัน พวกมันทุกคันอยู่ในสภาพที่พร้อมวิ่งและถูกนำออกมาขับรักษาสภาพอยู่เสมอ สุดท้ายผมเดินเข้าไปใกล้ๆ กับรถ TS020 สีแดงซึ่งครั้งหนึ่งเคยวิ่งบนทางตรงที่สนามแข่งในฝรั่งเศสด้วยความเร็วกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วเปิดฝาครอบเข้าไปนั่งใน Cockpit พลางหลับตานึกถึงช่วงเวลาที่รถคันนี้เคยรุ่งเรือง มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกแต่ก็รู้สึกดีมาก ห้องโดยสารแบบรถแข่งที่อึดอัดคับแคบของ Toyota TS020 กำลังบอกเรื่องราวที่ผ่านมาในช่วงชีวิตของมัน กลิ่นของเหล็ก น้ำมันเครื่อง ยางและกลิ่นคราบเหนียวของเชื้อเพลิงชวนให้นึกถึงตอนที่มันกำลังทำความเร็วบนสนามแข่งแบบมาราธอน 24 ชั่วโมง แผนกมอเตอร์สปอร์ตของ Toyota แห่งนี้มีเรื่องราวให้ค้นหาอีกมากมาย และเป็นที่น่ายินดีสำหรับการกลับเข้าร่วมการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลกอีกครั้งด้วยรถ Yaris ภายในปี 2014 นี้ สำหรับรถแข่ง Hybrid Toyota TS030 ที่จะลงไปแสดงสมรรถนะในสนาม Le Mans ผมแน่ใจว่ามันจะต้องสร้างความอึดอัดให้กับทีม Audi อย่างแน่นอน ภาพอุบัติเหตุในสนามจากความผิดพลาดของรถแข่ง Ferrari 458 GT3 ที่ชนปะทะกับ TS030 จนต้องออกจากการแข่งขันคือเหตุการณ์ที่รุนแรงแและนำมาซึ่งความผิดหวังให้กับ ทีม Toyota Motorsport แต่ในปีนี้กับฤดูกาลแข่งขันที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เรื่องราวของจอมโหดที่เคยคว้าชัยชนะนับครั้งไม่ถ้วนกำลังจะกลับมาอีกครั้ง ผมคิดว่าการหวนคืนสู่วงการมอเตอร์สปอร์ตของ Toyota ในครั้งนี้จะเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกๆ ครั้งอย่างแน่นอน.VDOอาคม รวมสุวรรณE-Mail chang.arcom@thairath.co.thFacebook https://www.facebook.com/chang.arcom
No comments:
Post a Comment