
Life’s Good Poll แบบสำรวจความสุขของคนกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความสุขในแง่มุมต่างๆ ของคนกรุงเทพฯ ในปี 2555 พร้อมสำรวจทัศนคติ พฤติกรรม รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีผลต่อความสุขของคนกรุงเทพฯ อีกทั้งปัจจัยที่จะส่งผลต่อสังคมและประเทศชาติ โดยผลสำรวจพบว่า มีคนกรุงเทพฯ เพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่คิดว่าตนเองมีความสุขอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 39 บอกว่าตนเองไม่ค่อยมีความสุขกับชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในช่วงอายุระหว่าง 20-25 ปีLife’s Good Poll ดำเนินการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างชายและหญิง อายุระหว่าง 20 – 45 ปี จำนวน 1,037 คน ในเขตธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจของ Life’s Good Poll เผยว่าความสุขในภาพรวมของคนกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.37 โดยคนที่คิดว่าตนเองมีความสุขมากถึงมากที่สุดมีเพียงร้อยละ 7, ร้อยละ 54 มีความสุขปานกลาง, และร้อยละ 39 มีความสุขน้อยถึงน้อยที่สุด เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ กลุ่มที่มีความสุขน้อยที่สุดคือ 20-25 ปี ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่านิยามของชีวิตที่มีความสุขนั้นแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยคนกรุงเทพฯ อายุ 31 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 26) เชื่อว่าชีวิตที่มีความสุขคือ การมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ในขณะที่กลุ่มหนุ่มสาวอายุ 20-25 ปี (ร้อยละ 23) จะมีความสุขหากได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและใช้ชีวิตตามที่ต้องการ นอกจากนี้ การมีเพื่อนร่วมงานที่ดีกลับมีความสำคัญต่อความสุขในการทำงานของคนกลุ่มนี้ มากกว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานซึ่งส่งผลต่อความสุขของกลุ่มคนอายุ 36 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 25) นายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ครอบครัว กล่าวว่า “ความสุขของคนเราเกิดจากปัจจัยที่แตกต่างและเหมือนกันในหลายๆ ด้านปัจจัยที่แตกต่างกันคือ วัย ซึ่งความต่างของอายุทำให้วิธีใช้ชีวิตและการมองโลกต่างกัน เงื่อนไขของความสุขจึงมาจากความต้องการในชีวิตที่ต่างกัน สำหรับปัจจัยที่เหมือนกันนั้น เชื่อว่าความสุขส่วนใหญ่ของคนเรามักจะมาจาก ความคิด ที่ว่า เราควรสมหวังตามค่านิยมที่สังคมกำหนด ซึ่งในความเป็นจริง วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เราต้องดิ้นรนและเหนื่อยมากเกินไป หากเข้าใจคำว่าความสุขอย่างแท้จริง จะค้นพบว่าความสุขไม่ได้เกิดจากความคาดหวังในการได้รับอย่างเดียว แต่เกิดจากการสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในใจด้วยการรู้จักเป็นผู้ให้ หรือทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมด้วย”Life’s Good Poll ยังสำรวจมุมมองด้านความสัมพันธ์ที่มีผลต่อความสุขของคนกรุงเทพฯ และสังคมซึ่งระบุว่า ผู้ร่วมสำรวจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 57) เชื่อว่าชีวิตจะมีความสุขได้เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาว มีอนาคตร่วมกัน แต่ก็มีถึงร้อยละ 21 ของผู้หญิงที่ต้องการความอิสระ เชื่อว่าการเป็นโสดทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าการใช้ชีวิตคู่ ในขณะที่ร้อยละ 21 ของผู้ชายที่ร่วมตอบแบบสำรวจ ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ผูกมัดคู่รักเซเลบริตี้ ม.ล.อาร์ต อภิชิต วุฒิชัย และ กบ อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งให้เกียรติมาร่วมแบ่งปันนิยาม Life’s Good พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งนำไปสู่การมีชีวิตที่มีความสุข คุณกบได้ให้ความเห็นว่า “ปัจจัยสำคัญในการดูแลความสัมพันธ์ของคู่รักให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ คือ หมั่นเอาใจใส่กันในทุกเรื่อง การเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน การที่เราจะสร้างความสัมพันธ์ให้ยืนยาวนั้น นอกจากความรักซึ่งควรมีให้กันแล้ว การมีพื้นฐานครอบครัวที่คล้ายกัน มีทัศนคติในการดำรงชีวิตทิศทางเดียวกันและมีความเชื่อที่เหมือนกัน รวมถึงการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตคู่ด้วย”Life’s Good Poll ยังทำการสำรวจทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งส่งผลต่อชีวิตที่มีความสุข โดยคนกรุงเทพฯ ยกให้โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตมีความสุขเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 32) ในขณะที่โทรทัศน์และโน้ตบุ๊กเป็นอันดับรองลงมา (ร้อยละ 24 และ 19 ตามลำดับ) นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เชื่อว่า เทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น คือ การมีสัญญาณ W-iFi ฟรีและแรง ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯผลสำรวจจาก Life’s Good Poll ยังระบุว่าคนกรุงเทพฯ จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ถ้าปัญหาด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพได้รับการแก้ไข (ร้อยละ 32) รองลงมาคือปัญหาด้านการเมือง คอรัปชัน และความสามัคคีภายในชาติ ร้อยละ 16 เท่ากันเมื่อถามถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งจะส่งผลต่อคนไทยในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ปรากฏว่ามีถึงร้อยละ 35 เชื่อว่าคนไทยจะเสียเปรียบมากกว่า เพราะแรงงานต่างชาติจะเข้ามาแย่งแรงงานไทย และมีถึงร้อยละ 12 ไม่รู้จักและไม่รู้เลยว่า AEC จะส่งผลต่อคนไทยอย่างไร โดยจำนวนที่เหลือเชื่อว่า AEC จะช่วยให้เกิดการสร้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และช่วยให้แรงงานไทยทำงานต่างประเทศได้มากขึ้น.
No comments:
Post a Comment